ยิ่งเหงายิ่งจ่าย วีซ่าเผย คนไทยช้อปออนไลน์บนมือถือทุกสองวัน

15

ไม่เหนือความคาดหมายนัก กับพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ของคนไทย เพราะเท่าที่มองดูใกล้ตัวก็พบว่า การซื้อสินค้าออนไลน์กลายเป็นชีวิตประจำวันที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนต้องหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน การซื้อของออนไลน์ ทั้งการซื้อเพราะความจำเป็น และซื้อเพื่อระบายความเหงาหรือความเครียด จึงมีความถี่มากขึ้น

โดยไม่นานมานี้ วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เผยข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study)   ว่าผู้บริโภคชาวไทยเลือกช้อปผ่านแอปบนสมาร์ทโฟนโดยเฉลี่ยทุกสองวัน หรือประมาณ 14 ครั้งต่อเดือน

นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่า คนไทยเลือกช้อปปิ้งผ่านแอปบนสมาร์ทโฟนมากกว่าเว็บไซต์  โดยมากกว่าสี่ในห้าของคนไทย (81 เปอร์เซ็นต์) ช้อปผ่านแอปบนสมาร์ทโฟนมากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่สองในสามของคนไทย (66 เปอร์เซ็นต์) เลือกช้อปผ่านเว็บบราวเซอร์บนสมาร์ทโฟน

สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ในครั้งนี้ที่ส่งผลให้เกิดการล็อกดาวน์ การจำกัดการเดินทาง และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมตลอดช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ทำให้เราได้พบวิถีการดำรงชีวิตรูปแบบใหม่ตลอดจนวิธีการทำงานและการจับจ่ายใช้สอย จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคและร้านค้าต่างปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจนก่อให้เกิดการทำการค้าและการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านสู่การช้อปปิ้งและพฤติกรรมการจับจ่ายในรูปแบบดิจิทัลนี้ยังได้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วทั้งภูมิภาค อย่างที่ได้เห็นจากเทรนด์ที่เปลี่ยนไปจากการศึกษาของเราในฉบับนี้”

โดยสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดวิธีการช้อปปิ้งวิถีใหม่มาจาก ความนิยมที่มีต่อแอปประเภทวอลเล็ตต่าง ๆ บนสมาร์ทโฟน รวมถึงความสะดวกที่แอปเหล่านี้มอบให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีแอปที่มีฟังก์ชั่นวอลเล็ตเฉลี่ยประมาณ 3.5 แอปบนสมาร์ทโฟนของตนเอง อย่างไรก็ดี เกือบสองในสามของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาอยากได้แอปเดียวที่ตอบโจทย์ทุกเรื่องในการทำธุรกรรมและการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การจับจ่ายซื้อของ บริการเรียกใช้ยานพาหนะ บริการด้านต่างๆ ตลอดจนใช้ซื้อประกัน เป็นต้น

การศึกษาครั้งนี้ยังเน้นให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมด้านการใช้จ่ายในกลุ่มนักช้อปรุ่นใหม่ที่เลือกจะใช้แอปโมบายล์วอลเล็ตในการชำระเงินมากกว่า นั่นคือเจ็ดในสิบของนักช้อป Gen Z (71 เปอร์เซ็นต์) จะเลือกจ่ายด้วยโมบายล์วอลเล็ต ขณะที่สามในห้าของคนวัยเบบี้บูมเมอร์ส (59 เปอร์เซ็นต์) เลือกชำระด้วยบัตรเครดิต  ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อมูลยังสะท้อนให้เห็นว่ายิ่งผู้ตอบแบบสอบถามมีความมั่งคั่งมากเท่าใด ก็ยิ่งเลือกชำระเงินด้วยบัตรเครดิตมากยิ่งขึ้นเท่านี้น (67 เปอร์เซ็นต์)

การสำรวจในครั้งนี้ยังเผยให้ทราบด้วยว่าผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ (87 เปอร์เซ็นต์) ยังคงเลือกใช้จ่ายผ่านแอปโมบายล์วอลเล็ตอยู่ดี แม้จะไม่ได้รับรีวอร์ดตอบแทน เช่นส่วนลด หรือเครดิตเงินคืน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย จากการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลเหนือกว่าเรื่องผลตอบแทนจากสิ่งจูงใจในการใช้จ่าย

“เมื่อผู้บริโภคหันไปช้อปปิ้งผ่านสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น เพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่าทั้งเรื่องความรวดเร็วและสะดวกในการซื้อสินค้า ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะยิ่งเติบโตนับตั้งแต่ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่และต่อจากนี้ไป วีซ่าในฐานะผู้นำด้านการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เรายังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับเหล่าพันธมิตรเพื่อสร้างนวัตกรรมโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อมอบประสบการณ์การชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ดีที่สุด และทำให้ประสบการณ์ใช้จ่ายในรูปแบบนี้ง่ายแก่การใช้งานสำหรับทุกคน ทุกที่ และทุกเวลาอย่างแท้จริง” สุริพงษ์ กล่าวสรุป