ทีเอ็มบี เสริมแกร่งการศึกษาเยาวชนผู้บกพร่องทางการมองเห็น

62

ทีเอ็มบี เสริมแกร่งการศึกษาเยาวชนผู้บกพร่องทางการมองเห็น จับคู่กับอาสาสมัคร ผ่านโปรแกรมออนไลน์ Volunteer Matching -http://www.volunteer.blind.or.th

ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชา เป็นคำตอบให้แก่เยาวชนตาดี ที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม เพิ่มโอกาสให้ตัวเองในการเข้าถึงสถาบันการศึกษาหรือโอกาสในการประกอบอาชีพ แต่โลกของเยาวชนผู้พิการทางสายตา เพียงเข้าถึงบทเรียน เข้าใจเนื้อหาหรือใจความสำคัญของแต่ละวิชาในห้องเรียน ก็เป็นปัญหา ที่ต้องการความช่วยเหลือจาก จิตอาสา ล่าสุด อาสาสมัครทีเอ็มบีจากสำนักงานใหญ่ ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ในโครงการ “จิตอาสาเพื่อน้องผู้พิการทางสายตา” โดยนำดิจิทัลประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม (Digital for Society) ซึ่งเป็นโปรแกรมออนไลน์ ที่จะช่วยบริหารจัดการหรือจับคู่ความถนัดของอาสาสมัคร และความต้องการของเยาวชนผู้พิการทางสายตาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ http://www.volunteer.blind.or.th รวมทั้งจัดทำคลิปวีดีโอแนะแนวการเป็นอาสาสมัคร เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็น 1 ใน 37 กิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด TMB Make THE Difference

บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เผยว่า “โครงการจิตอาสาเพื่อน้องผู้พิการทางสายตา เป็นกิจกรรมของไฟ-ฟ้า โดยมูลนิธิทีเอ็มบี ที่จัดทำขึ้น 37 โครงการทั่วประเทศ เพื่อจุดประกายให้คนในชุมชนออกมาร่วมกัน “เปลี่ยน” ซึ่งเกิดจากแนวคิด Make THE Difference โดยเริ่มจากศึกษาปัญหา ช่วยกันคิด วิเคราะห์ ลงมือทำ โดยส่งเสริมอาสาสมัครทีเอ็มบีในการทำงานเพื่อสังคมร่วมกับชุมชน ในขณะที่สังคมมีการเชื่อมต่อกับโลกดิจิทัลอย่างกว้างขวาง แบงก์นำดิจิทัลส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ครั้งนี้เรานำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ระบบออนไลน์ที่จะช่วยจับคู่ความต้องการของเยาวชนผู้พิการทางสายตา และความถนัดของอาสาสมัคร รวมทั้งเวลาที่จะมาเจอกันได้อย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนาการเรียนแก่เยาวชนผู้พิการทางสายตาอย่างยั่งยืน”

มนตรี ถิรศักดิ์ธนา อาสาสมัครทีเอ็มบี หัวหน้าทีมคิดค้นโปรแกรมออนไลน์ Volunteer Matching เผยว่า “เด็ก ที่พิการทางสายตาสามารถเรียนรู้ได้เหมือนคนทั่วไป แต่ด้วยข้อจำกัดของจำนวนครูและสื่อการเรียน ที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้เสียโอกาส จึงได้คิดโปรแกรม Volunteer Matching ใช้งานง่าย เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกแห่ง เป็นกลไกในการสื่อสารหรือจับคู่ ความต้องการทั้งผู้ให้และผู้รับ คือเด็กพิการทางสายตา สามารถลงข้อมูลต้องการอาสาสมัครวิชาไหน วัน/เวลาที่สะดวก เช่นเดียวกับอาสาสมัครที่ลงข้อมูลความถนัด เวลาสะดวก ซึ่งถ้าข้อมูลแมตช์กันได้ ก็สามารถกดยืนยันได้ทันที นอกจากนี้ยังได้จัดทำคลิปวีดีโอแนะนำอาสาสมัคร ส่วนอนาคตของโปรแกรม ก็คาดว่าจะใช้ได้กับคนพิการอื่นๆ ส่วนข้อมูลเบื้องหลัง ยังเป็นข้อมูลที่เก็บในเชิงสถิติ ที่มูลนิธิฯ นำมาใช้เป็นประโยชน์ได้”

ขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เผยว่า “อาสาสมัครเป็นส่วนสำคัญของเด็กผู้พิการทางสายตา เพราะเด็กที่นี่ เมื่อถึงชั้นมัธยม จะไปเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ เช่นที่โรงเรียนเซนต์ฟรัง โรงเรียนสันติราษฎร์ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ฯลฯ เมื่อต้องไปเรียนกับคน สายตาดี ที่มีการแข่งขันสูง คนที่จะพาผู้พิการทางสายตาจะไปสู่ดวงดาวได้ ก็คือพี่ๆอาสาสมัคร พอเด็กเรียนดี สอบได้ เด็กจะมีความภูมิใจ ตั้งใจและมีทางเลือกของอาชีพที่ต้องการเหมือนคนทั่วไป”

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ผู้พิการไทยคนแรกที่เข้ารับราชการ เผยว่า “ตอนที่เป็นนักเรียน ช่วงปิดเทอมผมไม่เคยได้หยุดเหมือนคนอื่น ผมต้องไปแปะประกาศหาอาสาสมัครตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หาพี่ๆ ช่วยอ่านหนังสือ หรือบอกหนังสือให้จด ต้องทำหนังสืออักษรเบรลล์เอง เตรียมหนังสือเสียงสำหรับใช้ในเทอมต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลามาก ผมคิดว่าโปรแกรมออนไลน์จะช่วยเปิดโอกาสให้อาสาสมัครเข้าถึงนักเรียน หรือนักเรียนเข้าถึงอาสาสมัครได้กว้างขวาง และสะดวกสบายมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการศึกษาให้ผู้พิการทางสายตา”

ดร.มัลลิกา บุณยคุปต์ จิตอาสาที่ช่วยผลักดันน้องปวินท์ ผู้พิการไทยคนแรกที่สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เผยว่า “เมื่อ 5 ปีก่อน มีพี่ๆ ชวนให้ไปอ่านข้อสอบ ให้นักเรียนตาบอดที่รร.เซนต์คาเบรียล คือ มีน้องตาบอด 4 คน ก็ต้องมีจิตอาสาอ่านข้อสอบ 4 คนเพราะข้อสอบจะออกพร้อมกัน ตอนแรกเราค่อนข้างกังวลว่า จะอ่านถูกต้องหรือไม่ พอน้องตอบข้อสอบ ก หรือ ค เราต้องทวนคำตอบทุกครั้ง อาสาสมัครต้องอ่านให้ถูกต้อง อ่านให้น้องๆ เข้าใจโจทย์ เรารู้สึกตื่นเต้นเหมือนกับสอบเอง ด้วยความที่เราเห็นถึงความตั้งใจ ความทุ่มเทของน้อง เราก็หาช่องทางทุกอย่าง ที่จะช่วยลดอุปสรรคต่างๆ อย่างตอนที่สอบ SAT ที่ผู้สอบต้องคิดให้ไว ก็ช่วยประสานงานกับทางอเมริกาขอเวลาเพิ่มเติม โดยส่งใบรับรองแพทย์ ส่งรายละเอียด แต่น้องก็มีเวลาจำกัดเท่ากับคนตาดี ก่อนที่น้องจะเข้าจุฬาฯ ก็ไปรับจากบีทีเอส มาที่บ้าน อ่านหนังสือของวิศวะ เตรียมความพร้อมสำหรับเปิดเรียน อาสาสมัครที่ดีจะต้องรู้จักการแบ่งเวลา เตรียมเวลา ทุ่มเทแรงกายและแรงใจ เพราะเชื่อว่า การให้โอกาสทางการศึกษาจะช่วยให้บุคคลนั้นมีการพัฒนาชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นค่ะ”

ปวินท์ เปี่ยมไทย นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปี 2 เผยว่า “ผมผ่านถึงจุดนี้ได้ ก็ไม่ใช่เพราะผมคนเดียว แต่เป็นซีรี่ย์ของพี่ๆ อาสาสมัครที่ช่วยเหลือกันมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องช่วยอ่านหนังสือซึ่งสำคัญมาก เพราะสื่อการเรียนอาจมี แต่คนผลิต ทำไม่ทัน บางทีเรียนจบไปแล้ว พอมีพี่ๆ อาสาสมัครช่วยอ่านให้ ผมก็ได้ทบทวนและเรียนทันเพื่อนๆ ถึงวันนี้ ผมก็มีพี่ คอยช่วยแนะ โดยเฉพาะวิชาเขียนแบบวิศวกรรม ที่ต้องวาดภาพกระดานมุ้งลวด เพื่อให้หมึกที่วาดตกทางช่องมุ้งลวดเกิดเป็นภาพนูนที่เราสัมผัสได้ ผมชอบเรื่องคอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ ผมมีเป้าหมายตั้งแต่อายุ 9-10 ปีว่าจะต้องทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้ได้ อนาคตผมใฝ่ฝันว่าอยากทำงานวิจัยเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ อยากเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผมเชื่อว่าการศึกษาด้านนี้ จะมีผลดีต่อสังคมมนุษยชาติเรา อยากจะสร้างเทคโนโลยีหรือสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น สิ่งที่เราคาดหวังคือ การให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อคนตาบอด จะได้มีอาชีพ ที่หลากหลาก ไม่ใช่แค่คนขายสลากกินแบ่งอย่างที่เห็นกัน ศักยภาพของคนตาบอดก็ไม่น้อยไปกว่าคนตาดี เพียงขอโอกาสในการเรียนและการทำงานครับ” น้องเต๋า- ศิวนาถ มณีแดง นักเรียนตาบอดชั้นม.6 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เผยว่า “ผมอยากจะเป็นทูต ตอนนี้เรียนภาษาจีนอยู่ การพูด การฟัง ไม่เกินความสามารถของเรา ตั้งเป้าว่าต้องได้เกรด 4 ถ้าไม่ได้ก็ต้องใกล้เคียง เราแค่มองไม่เห็นตัวหนังสือ แต่ถ้ามีคนอ่านให้ก่อน เราก็เรียนได้ทันเพื่อนๆ ในคลาส”

มอบโอกาสยิ่งใหญ่ เพื่ออนาคตใหม่ของคนตาบอด เพียงคุณมีเวลา มีหัวใจ และมีความถนัด ลงทะเบียนจิตอาสากันได้ที่ http://www.volunteer.blind.or.th