ไอคอนสยาม และ PLAY Art House จึงขอนำเสนองานศิลปะแนวนามธรรม ผลงานจาก 7 ศิลปินไทยและศิลปินชาวชิลี ให้ได้ชื่นชม ค้นหาความหมายและเปิดจินตนาการ พร้อมเป็นเจ้าของได้ง่าย โดยผู้ที่สนใจสามารถชมผลงานและสั่งซื้อได้ผ่านบริการ Call & Shop
สำหรับนิทรรศการนอกบ้านครั้งแรกนี้ PLAY Art House คัดสรรผลงานที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด นำโดย สมชาย วัชระสมบัติ ศิลปินรุ่นใหญ่ เจ้าของผลงานแนวเซอร์เรียลลิสม์ที่สร้างสรรค์เมื่อปี 2018/ 2019 มาแสดงสู่สาธารณะชนเป็นครั้งแรก และยังมีงานแนวนามธรรมที่วาดไว้ตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสได้เห็นมาเป็นชิ้นไฮไลต์ ศิลปินกล่าวถึงแรงบันดาลใจของผลงานว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ของรูปทรงและจิต เป็นตัวกระตุ้นให้ศิลปินอยากสร้างงานศิลปะ ให้สอดคล้องกับภาวะของตน บอกเล่าจินตนาการและความรู้สึกผ่านกระบวนการของจิตรกรรม การทำงานศิลปะของศิลปินท่านนี้สนใจตรงที่ให้ผลงานเกิดความรู้สึก เกิดแรงปะทะ สำหรับความหมายของคำว่า “นามธรรม” นั้น คุณสมชายมองว่าคือการให้ความสำคัญกับรูปทรงภายนอกสัมพันธ์กับรูปทรงภายใน เน้นการใช้อารมณ์เพื่อสื่อความหมาย อาจจะมีความสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ก็ได้ เพราะไม่มีอะไรสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากแต่เป็นไปตามที่ศิลปินกำหนด
งานชุด “เทวธรรมชาดก” ของอลงกรณ์ หล่อวัฒนา ศิลปินแนวไทยประเพณีฝีมือจัดจ้านที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปแบบงานศิลปะดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ศิลปินประทับใจจากที่ได้เห็นผ่านตาในสื่อโซเชียลมีเดีย และรู้สึกชื่นชอบแนวทางการวาดของญี่ปุ่นที่ยังมีความเป็นมนุษย์ คือก้ำกึ่งระหว่างอุดมคติและความสมจริง ศิลปินจึงได้นำรูปแบบนั้นแต่มาเล่าเรื่องราวปริศนาธรรมของไทย ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ศิลปินพูดถึงในผลงานศิลปะมาโดยตลอด โดยเลือกเรื่องจากพุทธประวัติมาถ่ายทอด นอกจากผลงานชุดใหม่นี้แล้ว ตอนนี้ อลงกรณ์กำลังสร้างสรรค์ผลงานเพื่อร่วมในเทศกาล Thailand Art Biennale ที่จ.นครราชสีมา ที่จะจัดขึ้นปลายปีนี้ด้วย
เสนีย์ แช่มเดช ศิลปินชาวนครสวรรค์ผู้มีความผูกพันกับธรรมชาติ และสร้างสรรค์งานแนวนามธรรมโดยได้แรงบันดาลใจจากป่าและธรรมชาติมาตลอดชีวิต ผลงานของเขามีสีและเส้นที่เลื่อนไหลไปตามอารมณ์ ความรู้สึกขณะสร้างสรรค์ ผลงานที่แม้จะเป็นรูปแบบนามธรรม แต่ก็มีความแตกต่างไปตามปรากฏการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่มากระทบจิตใจขณะสร้างงานในตอนนั้นๆ ด้วยความเชื่อของศิลปินที่ว่า นามธรรม คือ เป็นการแสดง ความจริงของความคิด หรือ ความรู้สึก ออกมาโดยไม่ต้องผ่านของจริง
ชัชวาล รอดคลองตัน เป็นศิลปินอาชีพระดับแนวหน้าของไทยที่สร้างผลงานแนวไทยประเพณีมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา พุทธประวัติ ก่อนหน้านี้ ชัชวาลทำเรื่อง “แสง” ซึ่งแฝงไว้ทั้งเรื่องราวและสัญลักษณ์ในตัวเอง เหตุผลที่ทำเรื่องแสงและเงา เพราะชอบภาวะความสงบและบรรยากาศที่เกิดขึ้น สำหรับผลงานที่นิทรรศการนี้ ก็ได้แนวคิดจากปรัชญาทางพุทธเช่นกัน โดยนำผลงานที่สร้างสรรค์ไว้ก่อนแล้ว คือภาพทางซ้ายและขวา ซึ่งมีที่มาจากแสงเทียนในบรรยากาศเวียนเทียน แต่ลดทอนให้เหลือเพียงแสงและเงา และใส่ลวดลายในสถาปัตยกรรมไทย ผสานด้วยความรู้สึกแบบนามธรรม คือเปรียบแสงเป็นเส้นทางสู่นิพพาน รูปดอกสาละ คือสัญลักษณ์ของการประสูติและปรินิพพาน
และจากภาพทั้งสอง นำไปสู่การสร้างงานใหม่เป็นแนวกึ่งนามธรรม (Semi abstract) คือภาพตรงกลาง ที่พูดถึงเรื่องวัฏฏะ ธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่ในรูปทรงที่ปล่อยวางโดยรอบ แสงตรงกลางเสมือนหนทางสู่ความสงบ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน สำหรับชัชวาลแล้ว ผลงานแนวนามธรรม ไม่ใช่เรื่องของรูปแบบที่หยิบยืมมา แต่เป็นความรู้สึกที่ศิลปินสื่อออกมา การเป็นศิลปินอิสระ ไม่จำเป็นต้องกำหนดหรือกะเกณฑ์รูปแบบให้ตัวเอง แต่เมื่อสร้างงานแล้ว อยู่ที่ว่าต้องทำให้ผู้ชมรู้ว่าเป็นผลงานของเรา
พลุตม์ มารอด เป็นศิลปินอีกคนที่สร้างผลงานเล่าเรื่องราวที่หลากหลาย จากในช่วงแรกที่เดินทางท่องเที่ยว ก็จะวาดภาพทิวทัศน์ เมื่อมีครอบครัว ก็วาดภาพเกี่ยวกับผู้หญิง แต่หลังจากที่ใช้สีน้ำมันมายาวนาน พลุตม์ก็เริ่มอิ่มตัว และพบว่า ด้วยธรรมชาติของสีน้ำมันที่ใช้เวลาแห้งนาน ไม่ตอบโจทย์กับความคิดและความเปลี่ยนแปลงของสื่อในโลกยุคปัจจุบันที่มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เทคนิคสีอะครีลิกที่ละเลงไปบนภาพที่ร่างไว้คร่าวๆ นี้คือเทคนิคที่พลุตม์ทดลองมาได้ราว 2 ปี เป็นวิธีการทำงานที่ศิลปินบอกว่า ทำให้ทำงานสนุกมากขึ้น รู้สึกตื่นเต้น และเป็นเทคนิคที่โต้ตอบทันท่วงทีกับความคิดปัจจุบันของตน
สำหรับผลงานชุดล่าสุดนี้ พลุตม์ยังคงพูดถึงเรื่องราวรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นรูปดอกไม้ ที่ตอนวาด ก็นึกถึงกระถางดอกไม้ที่แขวนอยู่ รูปเด็กผู้ชายซึ่งก็คือลูกชายของตัวเอง แต่เป็นการมองออกไปที่สังคมข้างนอก เห็นเด็กยุคนี้ที่รับสื่อต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และตั้งคำถามต่อว่า เด็กเหล่านี้จะมองโลกอย่างไร และพวกเขาจะเป็นอย่างไรในอนาคต
แม้จะมีดีกรีด้านศิลปกรรมศาสตร์ สาขาจิตรกรรมโดยตรงจากเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย แต่เมื่อกลับมาเมืองไทย ดนีย์นาถ บุรกสิกร กลับยึดอาชีพเป็นแฟชั่น สไตลิสต์ให้กับนิตยสาร LIPs เป็นเวลา 10 กว่าปีก่อนจะออกมาเป็นสไตลิสต์อิสระ และเพราะสถานการณ์โควิดรอบแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ทำให้เธอมีเวลาว่างพอที่จะกลับมาคว้าพู่กันอีกครั้ง เพื่อทำงานศิลปะ
เธอบอกว่า เธอชื่นชอบงานแนวนามธรรมมาตั้งแต่ยังเรียน เพราะทำให้เธอปล่อยอารมณ์อิสระที่ไม่ค่อยได้ใช้เวลาทำงานประจำและยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้จินตนาการ อาจชอบ หรือไม่ชอบ มองเป็นรูปอะไรก็ได้ นั่นคือเสน่ห์ของงานแนวนี้ สำหรับนิทรรศการนี้ ดนีย์นาถบอกว่า ตอนที่สร้างผลงาน รู้สึกแค่ว่า อยากให้ผลงานนี้ออกมาจากตัวตนของเธอเอง ไม่ได้มีคอนเซปต์เฉพาะ สีที่ใช้ก็เป็นไปตามอารมณ์ ณ ขณะนั้น ปัจจุบัน ดนีย์นาถยังสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างต่อเนื่องและทำด้วยความมั่นใจมากขึ้น และหวังว่าจะสามารถใช้เวลาทำงานศิลปะในสัดส่วนที่มากกว่างานหลักในอนาคต
ในนิทรรศการนี้ นอกจากศิลปินไทยชื่อดังทั้ง 6 คนแล้ว ทาง PLAY Art House ได้เชิญ Karina Retuert ศิลปินชาวชิลีมาร่วมแสดงผลงานด้วย โดยเธอพูดถึงผลงานของเธอว่า งานส่วนใหญ่จะเป็นภาพทิวทัศน์ แต่นำเสนอด้วยมุมมองแนวกึ่งนามธรรม (Semi-abstract) ภาพที่ออกมาจึงเป็นการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบที่ผู้ชมนึกถึงได้และเปิดโอกาสให้ใช้จินตนาการ แน่นอนว่า แรงบันดาลใจของผลงานของเธอมาจากสภาพเมืองและภูมิประเทศหลายแห่งของประเทศที่เธอเดินทางท่องเที่ยว
อาทิ ไอร์แลนด์ เม็กซิโก และประเทศบ้านเกิดของเธอ คือ ประเทศชิลี ทั้งนี้ จากภาพผลงานของเธอทั้ง หมด 5 ภาพ มี 2 ภาพนี้เป็นงานที่ทำที่เมืองไทย จึงกล่าวได้ว่า มีความเป็นไทยซ่อนในผลงานนี้ไม่มากก็น้อย เมื่อให้นิยามเกี่ยวกับศิลปะนามธรรม เธอคิดว่า เป็นเรื่องน่าทึ่งที่สามารถนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ต่อความเป็นจริงโดยมองข้ามรูปลักษณ์ที่จับต้องได้โดยสิ้นเชิง
ร่วมค้นหาความหมายและเปิดจินตนาการของท่านกับผลงานแนวนามธรรมจากนิทรรศการ PLAY Art House สำหรับผู้ที่สนใจผลงาน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ PLAY Art House วรินทร์ ศรีจันทร์วันเพ็ญplayarthouse@icloud.com หรือ 080-982-9559 / 083-656-5466 หรือสอบถามผ่านบริการ Call & Shop จากไอคอนสยาม เพียงโทร. 083-097-4622 หรือแอด Line @CS_ICONSIAM