ทีเอ็มบี รวมพลังอาสาสมัครทีเอ็มบี ตลอดปี 2560 จัดกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน 37 โครงการทั่วประเทศ

54

ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนมีพลังในการ Make THE Difference ทีเอ็มบี จึงได้ขับเคลื่อนพลังการ “เปลี่ยน” เพื่อให้สังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืน กับ กิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน รวม 37 โครงการทั่วประเทศตลอดปี 2560 ด้วยการทุ่มเทแรงกาย แรงใจของพลังอาสาสมัครทีเอ็มบี กว่า 3,000 คน โดยการผนึกกำลังจากอาสาสมัครในกทม.จากสำนักงานใหญ่ และจากสำนักเขตธุรกิจสาขาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ช่วยกัน “เปลี่ยน” โดยเริ่มจากชุมชนรอบตัวให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีชุมชนที่ได้รับผลประโยชน์กว่า 50,000 คน ซึ่งนับเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมว่า TMB Make THE Difference นั้นเป็นพลังแห่งการเปลี่ยน การพัฒนาที่จะนำไปสู่สังคม ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ชมภูนุช ปฐมพร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจสาขา ทีเอ็มบี เผยว่า “กิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อ ความยั่งยืน เป็นการต่อยอดแนวความคิดของโครงการ “ไฟ-ฟ้า” (FAI-FAH) ซึ่งเป็นโครงการแห่งการให้ที่ยั่งยืนของทีเอ็มบี โดยไม่จำกัดอยู่ที่ศูนย์ไฟ-ฟ้าเพียง 4 แห่ง โดยมีพนักงานทำงานเชิงลึกกับชุมชนอย่างจริงจังตลอดปี 2560 รู้สึกภาคภูมิใจมาก ที่มีอาสาสมัครทีเอ็มบีถึงกว่า 3,000 คน ที่อุทิศเวลา แรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ไป ทำประโยชน์ให้กับชาวชุมชนที่อยู่รอบข้าง โดยสิ่งที่ชุมชนได้รับประโยชน์แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) จัดทำศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งในปีนี้ได้มีการต่อยอด โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ทำให้เกิดเป็น Digital for Society และพนักงานเองได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะพิเศษ เช่น การใช้ภาษามือ ที่สามารถนำกลับมาใช้ ในการบริการลูกค้าที่สาขาได้ 2) มีรายได้เพิ่มขึ้นเกิดเงินทุนหมุนเวียน 3) มีศูนย์สุขภาพชุมชนที่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงกลุ่มที่ 4) การอนุรักษ์และต่อยอดวัฒนธรรมชุมชน และผลจากการทุ่มเท แรงกายและแรงใจ นอกจากจะสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนแล้ว ในปีนี้ ได้มีการมอบรางวัลเกียรติยศให้แก่อาสาสมัครที่อุทิศตนเอง เสียสละเวลาและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนร่วมองค์กรในการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน”

โดยส่วนหนึ่งของอาสาสมัครทีเอ็มบี ที่ได้รับรางวัลอาสาสมัครดีเด่นซึ่งพร้อมใจกันร่วมทำกิจกรรมอาสาสมัครในเวลาว่าง ได้ให้ทรรศนะดังนี้

ศิริพร มหาจินดามณีกุล อาสาสมัครทีเอ็มบีดีเด่น จากโครงการ “ดอกไม้ยั่งยืนที่บางบัวทอง” เผยว่า “เป็นปีแรกที่ร่วมเป็นอาสาสมัคร ที่ชุมชนบางบัวทองมีผู้สูงวัยมากกว่า 1500 คน พอว่างงาน ไม่มีกิจกรรม ก็ซึมเศร้า คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เลยมีโจทย์ว่า ทำอย่างไร ให้ผู้สูงวัยเกษียณแต่ตัว แต่ไม่เกษียณใจ ผู้สูงวัยที่นี่อยากจะเรียนรู้การทำดอกไม้จันทน์ ดอกไม้สด ทำพวงหรีด เป็นสิ่งที่ต้องใช้ในสังคมย่านนี้ อีกอย่างอยากจะเรียนรู้ไว้ เพื่อหารายได้ ดูแลตนเองได้ จากการทำกิจกรรมนี้ เราได้เรียนรู้ว่า ความสุขที่แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง แต่การ ทำให้คนอื่นมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้เห็นคุณป้า คุณน้า คุณอา ที่มาเรียนทำดอกไม้ยิ้มแย้ม มีชีวิตชีวาอีกครั้ง เป็นความสุขทางใจที่ยากเกินกว่าจะบรรยายค่ะ หลังจากทำดอกไม้เป็น ทางอบต.และอาสาสมัครทีเอ็มบี ก็ช่วยประชาสัมพันธ์หาช่องทางการตลาดให้ด้วยค่ะ”

กุลพิชฌาย์ พิรามวิทวัส อาสาสมัครทีเอ็มบีดีเด่น จากโครงการ “ตามรอยปันหยี สนามฟุตบอลลอยน้ำสู่ การท่องเที่ยวชุมชน” จังหวัดพังงา เผยว่า “หลายคนที่มาปันหยี ต้องมาแวะดูสนามฟุตบอลลอยน้ำ แต่ต้องกลับไปอย่างผิดหวัง เพราะสภาพที่เห็นเป็นเหมือนท่าเทียบเรือเก่าๆ ดูไม่ออกว่าเป็นสนามฟุตบอลลอยน้ำ เราเลยทำการซ่อมแซม ทำโกลฟุตบอลใหม่ วาดเส้นขอบสนาม ปักธงให้ได้บรรยากาศสนามฟุตบอล ซื้อไม้เก่ามาปรับบางส่วน จัดการอบรมมัคคุเทศก์น้อยเพื่อสร้างรายได้ให้น้องๆ เราเวิร์คชอปกับเด็กก่อน ให้เด็กเขียนแผนที่ท่องเที่ยว วาด 4 จุดที่เด็กอยากพาไปชม ให้ได้เรียนรู้ สุดท้ายต้องมีจุดช้อปปิ้ง ร้านค้า พอเด็กๆ มาเป็นมัคคุเทศก์น้อย เราทำกล่องรับบริจาค เงินรายได้จากกล่องบริจาคก็นำมาใช้เป็นทุนซ่อมบำรุงสนามฟุตบอลต่อไป รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลอาสาสมัครดีเด่น และคิดว่า ได้เพราะเราดูแลเยาวชนมัคคุเทศก์น้อย และเพื่อนร่วมทีมเหมือนครอบครัว ทุ่มเท และจริงใจในทุกๆสิ่งค่ะ”

อธิศ วงศ์ศศิธร อาสาสมัครทีเอ็มบีดีเด่น โครงการ “จิตอาสาพัฒนากุหลาบแดง” ที่ชุมชนกุหลาบแดง กรุงเทพฯ เผยว่า “ชุมชนนี้มี 800 หลังคาเรือน ล้อมรอบด้วยตึกสูงรอบข้าง เราอยากให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในชุมชนมีเด็กเล็กๆ 200 กว่าคน ไม่มีโอกาสได้เล่นเหมือนเด็กคนอื่น เลยวาดกำแพงแห่งการเรียนรู้ สีสันสวยงามที่สอดแทรกการเรียนรู้ ด้วยคำศัพท์อังกฤษ เกมหาเส้นทางกลับบ้าน รวมความยาวของกำแพงกว่า 30 เมตร จากนั้นก็หาทางสร้างรายได้เสริมอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน สอนเรื่องเพาะเห็ด สร้างโรงเรือน ทำกองทุนวันละบาท เพื่อนำทุนนี้ไปต่อยอด หลังจากได้เรียนรู้แล้วชาวชุมชนมีฝีมือการแปรรูปดีมาก ขายได้ทั้งเห็ดสดและเห็ดแปรรูป เช่น แหนมเห็ด กุยช่ายเห็ด ฯลฯ ผมคิดว่าที่ได้รางวัล เพราะพยายามหาช่องทาง หาเน็ตเวิร์ค ทำทุกอย่างจนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง โดยเฉพาะเรื่องเห็ด ผมคิดว่า “การให้” ครั้งนี้ ทำให้ผมเห็นคำตอบอย่างชัดเจน รู้สึกภูมิใจ รู้สึกดีมาก เป็นการให้ที่เราเห็นผล ไม่ได้ให้กับคนคนเดียว แต่ให้คนในชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม”

ระบิล พรพัฒน์กุล หัวหน้าทีมอาสาสมัครดีเด่น โครงการ “ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เกาะศาลเจ้า ชุมชน วัดจำปา” เผยว่า “อาสาสมัครเข้ามาในชุมชน เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตริมคลอง รวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาชุมชน อาทิ บ้านจักสาน บ้านสว่างจันทร์เครื่องหอม บ้านขนมไทยดิษฐ์ปัญญา ฯลฯ และถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ ทำแผนที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อบรมเยาวชนให้สืบสานการเป็นเจ้าบ้านที่ดี พัฒนาพื้นที่ขายสินค้า ตลาดน้ำขายสินค้า เป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีการจัดทำ QR Code เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน เราทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวา และมีเด็กรู้จักความสำคัญของแต่ละพื้นที่จะได้รู้สึกภาคภูมิใจ มีความรักและหวงแหนสิ่งดีๆ ที่มีในชุมชน”

ทั้งนี้ ชมภูนุช ปฐมพร กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับในปี 2561 ทีเอ็มบี พร้อมที่จะ Make THE Difference เปลี่ยนชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป มอบโอกาส พัฒนาความรู้ สร้างรายได้ ฯลฯ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ พร้อมปลุกจิตสำนึกพนักงานทีเอ็มบี ให้ทำดีเพื่อชุมชนและสังคมรอบข้างต่อไป”