สิ่งที่ต้องรู้ เมื่ออยากกลับบ้านไปรักษาโควิด 19 ณ ภูมิลำเนา

8
Image by Engin Akyurt from Pixabay

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ที่ต้องการกลับไปรักษาหรือกักตัวที่ภูมิลำเนาต่างจังหวัด ขอให้ทำในกรณีจำเป็นจริงๆ แนะควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อนเพื่อประเมินอาการและความปลอดภัย เนื่องจากการเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า ระบบภูมิต้านทานโรคอ่อนแอลง เสี่ยงเกิดอาการป่วยที่รุนแรงขึ้นได้ พร้อมแนะการปฏิบัติตัว 6 ประการ ระหว่างเดินทาง ป้องกันและลดแพร่กระจายเชื้อตลอดเส้นทาง 

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล บางส่วนมีความประสงค์จะเดินทางกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือกักตัวที่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัดว่า กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยสุขภาพ เนื่องจากการเดินทางข้ามจังหวัดจะทำให้ร่างกายของผู้ติดเชื้อเกิดความเหนื่อยล้า ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอลง อาจเพิ่มความเสี่ยงให้อาการป่วยเร็วหรือรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น จึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง และทำในกรณีที่มีความจำเป็น

ทั้งนี้ขอให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อน โดยอาจเป็นโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปลายทางที่จะกลับไปรักษา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประเมินอาการก่อน และจัดเตรียมความพร้อมรองรับการรักษาอย่างเหมาะสม  หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพภาพแห่งชาติทางสายด่วน 1330 กด 15 หรือแจ้งลงทะเบียนทางเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลในพื้นที่ตามมาตรฐาน

รวมถึงควรเตรียมเอกสารรับรองการเดินทางข้ามจังหวัด หรือ QR Code เพื่อแสดงแก่เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ โดยสามารถลงทะเบียนได้ 3 วิธีคือ  1.ขอเอกสารรับรองที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการเขต  2.หากไม่มีข้อ 1 ให้ลงทะเบียนการเดินทางข้ามจังหวัดผ่านทางเว็บไซต์ “หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” https://covid-19.in.th เพื่อนำ QR code แสดงแก่เจ้าหน้าที่  และ 3.ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ที่ด่านตรวจ

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคขอแนะนำการปฏิบัติตัวในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยของผู้ติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อระหว่างเดินทาง โดยหากเป็นไปได้ขอให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ก่อนเดินทางให้เตรียมสิ่งของต่อไปนี้ให้เพียงพอ ได้แก่ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ 70%  ถุงใส่ขยะส่วนตัว ยาที่ใช้ทั้งรักษาโรคประจำตัวหรือยาบรรเทาอาการป่วยโควิด 19  เตรียมอาหารและน้ำดื่มชนิดขวด พร้อมจดเบอร์โทรศัพท์สายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อแจ้งหากเจ็บป่วยฉุกเฉินในระหว่างเดินทาง

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดระหว่างที่เดินทาง  6 ประการ ดังนี้

  1. สวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง
  2. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น
  3. ล้างมือบ่อยๆด้วยเจลแอลกอฮอล์ 70 % ก่อนและหลังรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ หลังจากไอจาม
  4. ห้ามแวะพักระหว่างเดินทาง ขอให้ตรงไปยังโรงพยาบาลหรือสถานที่ปลายทางที่ประสานไว้
  5. หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ เช่นที่ปั๊มน้ำมัน ต้องล้างมือฟอกสบู่ก่อนและหลังจากใช้ห้องน้ำ เพื่อตัดวงจรเชื้อและลดการปนเปื้อนพื้นผิวของห้องน้ำ เช่น กลอนประตู สายฉีดชำระ ขันตักน้ำ
  6. เปิดหน้าต่างหรือช่องหน้าต่าง เพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทภายในรถยนต์ และเมื่อใกล้ถึงปลายทาง

ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลหรือสถานที่ที่ได้รับการประสาน เพื่อเข้ารักษาและปฏิบัติตามข้อกำหนดต่อไป  หากมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนควบคุมโรค โทร. 1422