สสส. ดึงกูรู ศิริราช- รามาฯ ม.มหิดล คณะสังคมสงเคราะห์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ อบรม “จัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน” ให้แกนนำชุมชน 30 แห่ง ใน 30 พื้นที่ของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ เสริมแกร่งดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว พร้อมต่อยอดทบทวนความรู้ผ่าน “อีเลิร์นนิ่ง” ม.เชียงใหม่ รับใบประกาศนียบัตรอิเล็กทรอนิกส์การันตี
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการอบรมออนไลน์หลักสูตรแนวทางการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) ว่า สสส. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ของ สสส. จัดอบรมหลักสูตรแนวทางจัดตั้งศูนย์แยกกันตัวในชุมชนให้แก่แกนนำชุมชน เจ้าหน้าที่มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน (CCF) ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร หรือจิตอาสาในชุมชน รวมถึงบุคลากรในศูนย์ฯ จากพื้นที่การทำงาน 30 แห่ง ใน 30 พื้นที่ ภายใต้มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ โดยเป็นการจัดอบรมออนไลน์ สอนสดผ่านระบบ zoom เป็นเวลา 8 วัน ระหว่างวันที่ 17 – 24 สิงหาคม 2564 แบ่งเป็นทฤษฎี 2 วัน และฝึกปฏิบัติงานจริงในชุมชน (Community Experience) ให้คำแนะนำปรึกษาผ่านกลุ่มไลน์ (Line Group Supervision) 6 วัน จากนั้นจะจัดให้มีการทบทวนหลังปฏิบัติงาน
“การอบรมฯ ถือเป็นประโยชน์ร่วมกันที่ สสส. ภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนแก้ไขปัญหาโควิด-19 ด้วยการขยายพื้นที่ในการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน เพื่อลดการแพร่ระบาด และรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรง เป็นการแบ่งเบาระบบสาธารณสุขให้สามารถรับมือสถานการณ์ได้ดีขึ้น โดยเป็นการนำร่องอบรมให้กับชุมชนพื้นที่ที่มีความพร้อมสามารถนำแนวทางจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชนไปปรับใช้ และปฏิบัติงานได้จริงต่อไป”ดร.สุปรีดา กล่าว
รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ เป็นหน่วยงานลักษณะพิเศษภายใต้ สสส. มีพันธกิจพัฒนาศักยภาพและให้คำปรึกษาภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับขีดความสามารถนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ การพัฒนาวิจัย และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพสู่ระดับสากล ได้จัดอบรมหลักสูตรแนวทางการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชนขึ้น นอกจากจะมีผู้เชียวชาญด้านต่างๆ เป็นวิทยากรอบรมแล้ว สสส. ยังร่วมกับวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดทำหลักสูตรแนวทางการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน ผ่านระบบ e-learning ในเว็บไซต์ของ https://www.lifelong.cmu.ac.th/ โดยผู้เรียนสามารถเข้าไปทบทวนการเรียนรู้ และทำแบบทดสอบประเมิน เพื่อรับใบประกาศนียบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ( e-certification) จากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย
“ช่วงเวลา 8 วัน ในการอบรมฯ จะมีตั้งแต่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากชุมชนที่มีการตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน หลักสูตรแนวทางการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโควิด-19 กลุ่มผู้ป่วยที่ควรเข้ารับการดูแลในศูนย์แยกกักตัวฯ การส่งต่อผู้ป่วย การช่วยเหลือดูแลทางด้านสังคม อาชีพ และการฟื้นฟู ขั้นตอนการเข้าสู่ระบบศูนย์แยกกักตัวในชุมชน และข้อปฏิบัติของผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ การควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคในศูนย์แยกกักตัวในชุมชน เมื่อไรกลับบ้านได้ แนวทางการดูแลผู้ป่วยเด็กในศูนย์แยกกักตัวในชุมชน การดูแลด้านจิตใจผู้ปกครอง ครอบครัว และเจ้าหน้าที่ระบบ Home Isolation” รศ.ดร.นพ.นันทวัช กล่าว