ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ก่อให้เกิดปัญหาขยะติดเชื้อและขยะอันตรายเข้าขั้นวิกฤติ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 รวมทั้งหมด 31,709.84 ตัน
เฉพาะในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียวพบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 210 ตันต่อวัน ยิ่งมีนโยบายให้แยกกักตัวที่บ้าน(Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ยิ่งเพิ่มมูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากอนามัยใช้แล้ว กระดาษทิชชู่ ถุงมือใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียว โดยเฉพาะ ชุดตรวจโควิด-19 (Antigen Test Kit) มีความเสี่ยงสูงสุด ดังนั้นการสร้างวินัยการทิ้งขยะให้ถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง ควรเริ่มจากในครัวเรือนและชุมชนเป็นอันดับต้นๆ
ท่ามกลางความเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 นี้ “ฮีโร่” (HERO) ผู้นำนวัตกรรมด้านการผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชั้นนำระดับโลก ให้ความสำคัญกับอีก 1 อาชีพ ที่ต้องอุทิศตนทำงานเพื่อพวกเรา คือ พนักงานเก็บขยะ ดังนั้น วันนี้ เราจึงมาแนะ 4 วิธีการง่ายๆ ในการทิ้งขยะติดเชื้อ เพื่อ #Save พี่ๆ พนักงานเก็บขยะ โดยรวบรวมข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย ดังนี้
กรมควบคุมมลพิษ ได้ให้นิยามของ “มูลฝอยติดเชื้อ” หรือ ขยะติดเชื้อ คือ มูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณหรือมีความเข้มข้นซึ่งถ้ามีการสัมผัสใกล้ชิดกับมูลฝอยนั้นแล้วสามารถทำให้เกิดโรคได้ โดยที่กรมอนามัยแจ้งว่าในช่วงเวลานี้ขยะติดเชื้อทั้งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง รวมถึงขยะจากผู้ป่วยผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ Antigen Test Kit จำเป็นต้องมีการแยกทิ้งจากขยะทั่วไป และเพื่อ Save พี่ๆ พนักงานเก็บขยะ ควรหาสัญลักษณ์ที่ใช้แทนขยะติดเชื้อ ได้แก่ ถุงขยะสีแดง ถังขยะสีแดง หรือใช้ปากกาเมจิกเขียนระบุว่าเป็น “ขยะติดเชื้อ” จากนั้นทิ้งลงถังที่มีฝาปิดมิดชิด หรือไม่ก็ทำป้ายสัญลักษณ์ “รูปหัวกะโหลกไขว้” ติดไว้บริเวณจุดตั้งถังขยะอย่างชัดเจน
ขยะปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย ทิชชู่ต่างๆ ชุดตรวจโควิด-19 (Antigen Test Kit) ควรทิ้งแยกในถุงซิป หากไม่มีก็สามารถใช้ถุงพลาสติกทั่วไปแต่ซ้อนสองขั้น มัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไปบริเวณปากถุง ในส่วนของขยะติดเชื้อทั่วไปจากผู้กักตัวที่บ้านแบบ Home Isolation ใช้วิธีคล้ายๆ กัน คือ ก่อนทิ้งให้นำสเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไปฉีดพ่นใส่ก่อน ลงทิ้งในถุงขยะสีแดง หรือ ทิ้งลงถุงขยะสีดำทั่วไป จากนั้นเขียนด้วยปากกาเมจิกระบุว่าถุงขยะติดเชื้อ หรือทำสัญลักษณ์สีแดงไว้เพื่อให้พี่ๆ พนักงานเก็บขยะได้ระมัดระวังตัว หากเป็นขยะติดเชื้อที่รวมกับของมีคม ควรใส่ถุงซ้อนสองชั้น และควรบรรจุขยะเพียง 2 ใน 3 เพื่อลดการฉีกขาดของถุง และไม่ให้ถุงแน่นจนเกินไป
บ้านเรือน ชุมชน ร้านค้า และสถานประกอบการต่างๆ ที่ต้องการทิ้งขยะติดเชื้อทั้งของผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และผู้ติดเชื้อโควิดแบบ Home Isolation แนะนำให้แจ้งไปยังหน่วยงานจัดการขยะในท้องถิ่น ส่วนกรุงเทพมหานครทั้ง 52 เขต ให้แจ้งไปยังสำนักเขตนั้นๆ เบอร์ติดต่อ คลิก http://www.the-than.com/saranalu/S1/30.html เพื่อเข้าจัดเก็บและจัดเตรียมทีมเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจ สวมชุดป้องกันตน PPE สำหรับจัดเก็บอย่างถูกหลักการกำจัดขยะติดเชื้อ
ขยะติดเชื้อในชุมชนจำพวก หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ถุงมือยาง และชุดตรวจโควิด-19 (Antigen Test Kit) ที่ใช้แล้ว ยิ่งในผู้ป่วยโควิดที่กักตัวอยู่บ้าน หรือ Home Isolation ยิ่งต้องรวบรวมขยะติดเชื้อแล้วแยกทิ้งจะดีที่สุด มีแนวทางการกำจัดเดียวกัน คือ ควรรวบรวมขยะติดเชื้อทุกวันและแยกทิ้งจากขยะทั่วไป โดยทิ้งลงในถุงขยะสีแดงซ้อนสองชั้น ชั้นแรกสัมผัสขยะติดเชื้อโดยตรง ควรมัดให้แน่นก่อนแล้วฉีดฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากน้ำยาฟอกขาวผสมน้ำ อัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 % เพื่อฆ่าเชื้อ แล้วมัดปากถุงชั้นนอกให้แน่น และฉีดฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง เมื่อทุกถุงผ่านการฆ่าเชื้อเบื้องต้นแล้ว ก็ดำเนินการแจ้งไปยังหน่วยงานจัดการขยะในท้องถิ่น หรือสำนักเขต
หากคนไทยทุกคนสร้างวินัยในการทิ้งขยะให้ถูกวิธีจนติดเป็นนิสัย ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นเราจะสามารถรับมือกับมันได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ฮีโร่ ขอเป็นกำลังใจและอยู่เคียงข้างกันร่วมผ่านสถานการณ์โควิด-19 นี้ไปด้วยกัน