สมการความยั่งยืนของวงการศิลปะ

37
อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร

ภาพวาดหัวหมี อายุกว่า 500 ปี ผลงานชิ้นเล็กๆ ของลีโอนาร์โด ดาวินชี ทุบสถิติการประมูลด้วยมูลค่า 395 ล้านบาท เมื่อเร็วๆ นี้ สร้างกระแสและแรงบันดาลใจให้ศิลปินและผู้หลงใหลงานศิลปะไม่น้อย ผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง ยิ่งผ่านวันเวลา คุณค่าก็ยิ่งมากขึ้น มูลค่าของชิ้นงานก็สูงมากขึ้นไม่แพ้กัน กระบวนการสร้างสรรค์ สะสม และรักษาผลงานเหล่านั้นให้คงคุณค่ายืนยาว…ทำอย่างไร

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้รวบรวมเคล็ดลับในหัวข้อ “The Art of Masterpiece ศิลปะในการดูแลรักษางานชิ้นเอกให้คงคุณค่ายืนยาว” ผ่าน 3 มุมมองของนักสร้างสรรค์ นักสะสม และนักอนุรักษ์ ได้แก่ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร (นักสร้างสรรค์) ธีระ วานิชธีรนนท์ (นักสะสม) และขวัญจิต เลิศศิริ (นักอนุรักษ์) เอกอุแห่งแวดวงศิลปะของไทยในมิติที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้ความรู้และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับศิลปิน ให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเลือกสรรวัสดุ การจัดเก็บรักษา และการซ่อมแซมผลงานชิ้นเอกที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกให้คงคุณค่ายืนยาว

อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2557 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ศิลปินผู้สร้างสรรค์จิตรกรรมไทยโดยผสมผสานศาสตร์แห่งตะวันตกเป็นคนแรกๆ ในประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า “เยาวชนรุ่นใหม่ๆ มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงมาก เพราะมีข้อมูลเยอะ มีโอกาสเรียนรู้ในวงกว้างได้ภายในระยะเวลาอันสั้น อยากให้ศิลปินยุคใหม่ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ ศึกษาการเคลื่อนไหวของวงการนี้ เพื่อที่จะหาจุดแตกต่างของตัวเองให้เจอ”

อาจารย์ปัญญาเป็นผู้หนึ่งที่สร้างสรรค์งานศิลปะแบบไม่จำกัดเทคนิค และให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดจนถึงคุณภาพของงาน เพื่อให้ชิ้นงานคงทนเมื่อถูกส่งต่อไปยังผู้ชื่นชอบผลงาน ทั้งนี้ คุณค่าของงานศิลปะเป็นเรื่องที่มากกว่าความสวยงาม หากงานศิลป์มีเรื่องราวที่น่าสนใจ เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรสามารถมาทดแทนได้ ก็จะเป็นที่ต้องการของนักสะสม

ธีระ วานิชธีรนนท์ นักสะสม/เจ้าของ 333 Gallery จากวิศวกรไฟฟ้ามาสู่นักสะสมผลงานศิลปะชั้นแนวหน้าของไทย ได้กล่าวไว้ว่า “ผมเก็บประวัติศาสตร์ งานที่สะสมเป็นผลงานที่เป็น signature ของศิลปิน ผมให้ความสำคัญกับการเก็บรักษา ผู้ที่รักในการสะสมผลงานศิลปะควรต้องศึกษาวิธีคงสภาพผลงานให้ยาวนาน” ซึ่งคุณธีระไม่ได้จำกัดเพียงแค่ชิ้นงานที่สมบูรณ์ แม้แต่รูปสเก็ต (งานร่าง) ก็มีคุณค่าเป็น masterpiece เพราะเป็นลายแทงสู่ความสำเร็จของศิลปิน

ปัจจุบันโลกเปิดโอกาสให้ศิลปินได้แสดงผลงานอย่างเท่าเทียมในโลกออนไลน์ ศิลปินมีโอกาสได้พบและซื้อขายกับนักสะสมโดยตรง แต่แม้ว่าศิลปะดิจิทัลจะมีบทบาทมากขึ้น ก็ยังมีศิลปินจำนวนไม่น้อยและนักสะสมจำนวนมากที่ยังชื่นชอบสร้างสรรค์และสะสมชิ้นงานจิตรกรรม งานประติมากรรม รวมถึงต้องการอนุรักษ์ผลงานชิ้นที่ครอบครองให้ยั่งยืนเพื่อคงคุณค่าของงานศิลป์และเป็นประวัติศาสตร์ให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป

ขวัญจิต เลิศศิริ นักอนุรักษ์ชั้นครู อีกหนึ่งตำนานแห่งการอนุรักษ์ผลงานศิลปะของไทย มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าศิลปินสามารถซ่อมแซมผลงานของตนเองได้ อันที่จริงแล้วงานอนุรักษ์ต้องใช้ความเข้าใจในผลงานชิ้นนั้นๆ และต้องอาศัยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับความสามารถในงานศิลป์ จึงจะสามารถสืบสานลมหายใจของผลงานศิลปะได้โดยไม่เอาตัวเองเข้าไปแทรกแซงชิ้นงานดั้งเดิม

ขวัญจิต เลิศศิริ

“ทุกการสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินต้องคำนึงถึงปัจจัยภายใน คือ “คุณภาพของวัสดุ” และปัจจัยภายนอก คือ “สภาวะแวดล้อม” ไม่ว่าจะเป็นแมลง ความชื้น เชื้อรา รวมถึงวิธีการเก็บรักษาล้วนส่งผลต่อชิ้นงาน เมื่อผลงานป่วยจนเกิดความเสียหาย หน้าที่ของนักอนุรักษ์ไม่ใช่การทำให้ผลงานกลับมาเหมือนใหม่อีกครั้ง แต่จะเป็นการทำให้งานคงสภาพเดิมให้มากที่สุด เพราะหากเติมแต่งเข้าไป ‘คุณค่า’ ดั้งเดิมของชิ้นงานจะหายไป” ขวัญจิต กล่าว

งานศิลปะที่ทำวันนี้ จะไม่ได้จบแค่วันนี้ แต่อาจจะเป็นอีกหน้าของประวัติศาสตร์ ใครจะรู้ วันนี้เราอาจจะเป็นแค่นักศึกษาศิลปะ อาจจะไม่ดัง แต่ศิลปินที่ประสบความสำเร็จชั่วข้ามคืนก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ งานชิ้นแรก งานร่าง ล้วนมีคุณค่าที่ส่งผลต่อศิลปินในอนาคต จึงควรเก็บรักษาผลงานให้ดีในทุกๆ ชิ้น

“Ars Longa, Vita Brevis ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” ส่วนโอกาสจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับการเปิดใจและลงมือทำ จะเป็นผู้สร้าง ผู้สะสม หรือผู้รักษา วงการศิลปะมีพื้นที่ให้เลือกยืนและฝันมากกว่าที่ตาเห็น