การรับมือกับ “มะเร็ง” โรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทยต่อเนื่องหลายปี บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด ผู้นำด้านนวัตกรรมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลและการตรวจวินิจฉัย ได้จัดการเสวนาในหัวข้อ “The Future of Personalised Healthcare: อัพเดทเทรนด์สุขภาพคนไทยช่วงโควิด-19
เผยนวัตกรรมการตรวจยีนที่จะมาพลิกอนาคตแห่งการรักษามะเร็ง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 125 ปีของการก่อตั้งและ 50 ปีของการมีส่วนร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยในสังคมไทย ภายในงานได้รับเกียรติจากนักวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แม่นยำ เพื่อร่วมกันเผยอนาคตแห่งการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล ที่เปรียบเสมือนความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยทุกคน
โดยพูดคุยเจาะลึกถึงประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การตรวจยีนแบบครอบคลุม นวัตกรรมการรักษา โอกาสการเข้าถึงที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น ข้อสรุปจากการเสวนาชี้ว่าการตรวจยีนแบบครอบคลุมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการวินิจฉัยของแพทย์ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาที่สอดคล้องกับรูปแบบการกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างแม่นยำ นวัตกรรมนี้ช่วยให้ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ดูแลสามารถรับมือกับโรคร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครับและภาคเอกชนต่างก็กำลังพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาแบบจำเพาะบุคคลให้แก่ผู้ป่วยไทยในอนาคต
ปิยะ เมฆานันท์ ผู้จัดการกลยุทธ์และข้อมูลเชิงลึก จากบริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลของคนไทยในช่วงโควิด-19 ว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้หน่วยงานต่างๆ ใช้มาตรการทำงานจากที่บ้าน (work from home) จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าคำค้นหา (keyword) ที่คนไทยนิยมใช้หาข้อมูลออนไลน์ในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถทำหรือใช้งานภายในบ้าน ควบคู่ไปกับพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
กล่าวคือ คนไทยจำนวนมากหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพทั้งทางกายและทางใจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น การเลือกวัตถุดิบและวิธีการปรุงอาหารเพื่อสุขภาพ วีดิโอคลิปออกกำลังกายและอุปกรณ์ออกกำลังกาย สื่อบันเทิงเพื่อช่วยคลายเครียด เป็นต้น นอกจากนี้ หากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่าคนไทยเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่เฉพาะเจาะจงหรือออกแบบมาให้เหมาะสมกับความต้องการของตนเองอีกด้วย
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สินค้าและบริการทุกวันนี้พยายามออกแบบมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน หรือ personalised มากขึ้นนั่นเอง ส่วนมลภาวะที่อาจเป็นภัยต่อสุขภาพ อย่างฝุ่น PM 2.5 ก็ได้รับความสนใจจากคนไทยเป็นระลอกเช่นกัน แต่ในทางตรงข้าม คำค้นหาที่เกี่ยวข้องการตรวจสุขภาพกลับลดต่ำลง ซึ่งอาจเป็นผลจากความกังวลของประชาชน ว่าการไปโรงพยาบาลในช่วงโควิด-19 อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคได้”
แนวโน้มการค้นหาข้อมูลออนไลน์ยังแสดงให้เห็นว่า เมื่อนึกถึงการดูแลสุขภาพ คนไทยมักให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การดูแลรักษาทางการแพทย์ สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวชี้วัดด้านสุขภาพ ทั้งยังถือเป็นการให้ความร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาหนทางรับมือกับโรคร้ายอย่าง “มะเร็ง”
ทั้งนี้ ศ. นพ.มานพ พิทักษภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลเชิงสถิติว่า “รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี พ.ศ. 2563 เพียงปีเดียว ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 190,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เกือบ 125,000 คน เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวมาเทียบกับอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มักเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง กลับพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 คนต่อปี
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนไทยเสียชีวิตเพราะมะเร็งมากกว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนราว 6 เท่า โดยมะเร็งที่มีอุบัติการณ์สูงสุด 3 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม ตามลำดับ นอกจากนี้ มะเร็งบางชนิดยังมีความชุก (prevalence) มากเป็นพิเศษในบางภูมิภาคของประเทศ เช่น มะเร็งตับพบได้มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารสุกๆ ดิบๆ และการดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนมะเร็งปอดพบได้มากในภาคเหนือ เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ดังนั้น การลดพฤติกรรมเสี่ยงหรือการหลีกเลี่ยงมลภาวะจึงมีส่วนช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งได้”
อย่างไรก็ตาม สาเหตุการเกิดมะเร็งอาจมาจากอีกปัจจัยหนึ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจไม่เคยตระหนักมาก่อน นั่นก็คือ ลักษณะทางพันธุกรรมหรือยีน (gene) ซึ่งถ่ายทอดภายในครอบครัวจากสมาชิกรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ในร่างกายแต่ละคนประกอบด้วยยีนที่มีลักษณะจำเพาะ เป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำกัน โดยยีนนับได้ว่าเป็นตัวชี้วัดด้านสุขภาพที่มีบทบาทสูงถึง 22%
ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว บริษัทชั้นนำของโลกด้านนวัตกรรมการวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็ง เผยถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่ช่วยให้เข้าใจความหลากหลายของรูปแบบการกลายพันธุ์ของยีนได้ดียิ่งขึ้น
ในอดีต มะเร็งถูกมองว่าเป็นโรคในระดับอวัยวะหรือระดับเซลล์ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งชนิดเดียวกันได้รับการรักษาเหมือนกัน โดยพิจารณาจากระยะของโรคและขนาดของก้อนมะเร็งเท่านั้น ส่งผลให้ประสบการณ์การรักษามะเร็งในผู้ป่วยบางรายไม่ดีเท่าที่ควร แต่ทุกวันนี้ ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยเฉลยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วมะเร็งเป็นโรคในระดับยีน ดังนั้นแนวทางการรับมือกับมะเร็งจึงควรเปลี่ยนจากการรักษาบนมาตรฐานเดียวกัน (One-size-fits-all approach) ไปสู่การรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Personalised healthcare) โดยเทคโนโลยีการตรวจยีนแบบครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในขั้นตอนการวินิจฉัย แม้จะป่วยเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน แต่รูปแบบการกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นสาเหตุนั้นอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้แพทย์ต้องวางแผนการรักษาให้สอดคล้องกับความผิดปกติของยีน ระยะของโรค และความแข็งแรงทางกายของผู้ป่วย
นอกจากนี้ ฟาริดยังได้ยกตัวอย่างการวินิจฉัยมะเร็งปอดประเภท ALK ว่า “80% ของมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากควันบุหรี่ 15% มาจากสารเคมีในแร่ใยหิน แต่หารู้ไม่ว่าอีก 5% ของมะเร็งปอดไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม แต่เป็นผลจากการกลายพันธุ์ของยีน ALK ซึ่งพบได้ในผู้หญิงเอเชียอายุน้อย ที่ไม่มีประวัติสัมผัสกับควันบุหรี่ ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในระดับยีนผ่านนวัตกรรมการตรวจยีนแบบครอบคลุม จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ และพิจารณาแนวทางการรักษาได้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี”
ในด้านการรักษามะเร็ง นอกจากการผ่าตัด การฉายแสงหรือฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ปัจจุบันยังมีนวัตกรรมการรักษาที่จะมาเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ศ. นพ.มานพ กล่าวว่า “แนวทางการรักษามะเร็งแบบจำเพาะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นยามุ่งเป้า (targeted therapy) หรือ ยาภูมิคุ้มกับบำบัด (immunotherapy) ได้กลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญเพื่อรับมือกับความผิดปกติรูปแบบต่างๆ ของยีนที่ก่อให้เกิดมะเร็ง โดยตัวเลือกการรักษาที่ออกแบบมาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคน ช่วยให้การตอบสนองต่อการรักษาได้ดียิ่งขึ้น และลดแนวโน้มที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ลง”
ที่ผ่านมา โรชได้นำศักยภาพและความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงจุดแข็งด้านเทคโนโลยี มาใช้เพื่อยกระดับการตรวจวินิจฉัยและการรักษามะเร็งแบบจำเพาะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา การทำวิจัยทางคลินิก ฐานข้อมูล (database) เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่วนในอนาคตอันใกล้นี้ ฟาริดระบุว่า “ปลายปี พ.ศ. 2564 นี้ ผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยกำลังจะมีโอกาสได้เข้าถึงนวัตกรรมการตรวจยีนแบบครอบคลุม ซึ่งใช้เวลารอผลแลปสั้นลงและมีความใช้จ่ายน้อยลง เพราะโรชตระหนักดีว่าเวลาทุกวินาทีของผู้ป่วยมะเร็งมีค่า การได้รับผลตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำและได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีช่วยคลายความกังวลให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้อย่างมาก ด้วยเหตุนี้ โรชจึงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ตรวจยีนแบบครอบคลุมที่ศิริราช ทำให้ไม่ต้องส่งตัวอย่างเลือดหรือชิ้นเนื้อของผู้ป่วยไปวิเคราะห์ที่แลปในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจใช้ระยะเวลารอผลแลปร่วมเดือน”
ด้วยสถานการณ์ของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หมายถึง สังคมที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและโรชเห็นพ้องกันว่า เมื่อถึงตอนนั้นสุขภาพของคนไทยจำนวนมากขึ้นจะถูกคุกคามด้วยโรคมะเร็ง และการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศอาจได้รับผลกระทบจากความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของแรงงาน ดังนั้น ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบสุขภาพ เพื่อเพิ่มความเท่าเทียมและขยายโอกาสการเข้าถึงยาให้แก่ผู้ป่วย ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจึงควรร่วมมือกันเพื่อแสวงหาแนวทางการเข้าถึงการรักษาที่จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ป่วย
“นอกจากผลักดันการเข้าถึงยาแล้ว โรชยังพร้อมยืนเคียงข้างผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแลในช่วงเวลาอันแสนยากลำบากระหว่างที่ต้องต่อสู้กับโรคร้าย โดยจับมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการทางธนาคารเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ คลายความกังวล และสร้างความอุ่นใจภายใต้โครงการ Roche Patient Support Solutions (RPSS) โรชหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีการตรวจยีนแบบครอบคลุมและนวัตกรรมการรักษาแบบจำเพาะบุคคลจะมีส่วนช่วยให้ผลลัพธ์การรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดียิ่งขึ้น ” ฟาริดกล่าวปิดท้าย