กรมอนามัยเดินหน้าแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนวัยรุ่นไทยเข้าถึงการคุมกำเนิดอย่างทั่วถึง ผ่านนโยบายบริการคุมกำเนิดฟรี พร้อมส่งเสริมความรู้เรื่องเพศศึกษา เสริมเกราะป้องกันวัยรุ่นผ่าน Line Official TEEN CLUB
นายแพทย์พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มุ่งแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มเด็กและเยาวชน เดินหน้าผลักดันนโยบายการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง ผ่านความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มอบบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดฟรีที่สถานบริการเครือข่ายของสปสช. ทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนค่าบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้เรื่องเพศศึกษาในช่องทาง Line Official Account TEEN CLUB เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องเพศให้วัยรุ่น อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการท้องไม่พร้อมและการเกิดที่ไม่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน เนื่องในวันคุมกำเนิดโลกซึ่งตรงกับวันที่ 26 กันยายนของทุกปี
สถานการณ์ด้านประชากรในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีพ.ศ.2564 ที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยสาเหตุมาจากการดำเนินนโยบายด้านการวางแผนครอบครัวและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่อยู่เป็นโสดกันมากขึ้น ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรลดลงจากร้อยละ 2.7 ในพ.ศ.2513 เหลือเพียงร้อยละ 0.2 ในพ.ศ.2563 ส่งผลให้อัตราเจริญพันธุ์รวมอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้หญิงอายุ 15-49 ปีมีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.53 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน และอัตราการเกิดยังมีเพียง 10.2 ต่อประชากรพันคนเท่านั้น
อีกสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือการเกิดที่ด้อยคุณภาพ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น โดยจากสถิติในพ.ศ.2562 พบว่า วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน ในขณะที่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้กำเนิดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน ด้านจำนวนคุณแม่วัยใสพบว่าในปีเดียวกัน มีจำนวนผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ให้กำเนิดบุตรอยู่ที่ 63,831 ราย โดยแยกเป็นอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 61,651ราย และอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2,180 ราย และยังมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีการคลอดซ้ำอีกถึง 5,222 ราย (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, 2564)
เพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (พ.ศ.2560-2569) อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการส่งเสริมวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ให้สามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงคุมกำเนิดและฝังยาคุมได้ฟรีทุกกรณี และยังครอบคลุมถึงหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20 ปีขึ้นไปในกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังสนับสนุนค่าบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้กับสถานบริการเครือข่ายของสปสช. การดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังนำไปสู่การผลักดันและบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงให้ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ในระบบบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและครอบคลุม
“นับแต่ที่กรมอนามัยเริ่มดำเนินนโยบายป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ตามยุทธศาสตร์ปีพ.ศ.2560-2569 หน่วยบริการมีการจัดบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรเพิ่มขึ้นจนครอบคลุมร้อยละ 85.6 ของโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในปีพ.ศ.2563 และมีวัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรสะสมตั้งแต่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2557 – 31 มีนาคม พ.ศ.2564 รวม 210,997 คนตามข้อมูลจาก E-Claim ของ สปสช. ซึ่งทางกรมฯ จะดำเนินงานต่อไปเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาประชากรให้ครบทุกด้าน เรายังดำเนินนโยบายส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2569) เพื่อให้ทุกการตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดจากความตั้งใจ มีการวางแผน แม่และเด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังคลอด”
อย่างไรก็ตาม การจะป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมในระยะยาวได้ สิ่งสำคัญคือเด็กและเยาวชนต้องรู้จักที่จะดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง การส่งเสริมให้เด็กๆ เข้าถึงเรื่องเพศศึกษาที่เหมาะสมและสะดวกสบายจึงเป็นอีกสิ่งที่กรมอนามัยมุ่งดำเนินการ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว Line Official Account TEEN CLUB เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ประเด็นความรู้ที่น่าสนใจ และข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่น ผู้สนใจสามารถแอดไลน์ TEEN CLUB ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/@teen_club หรือ QR Code ด้านล่าง
ปัญหาท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบทั้งต่อตัวเด็ก ครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้างและจำเป็นต้องได้รับการใส่ใจเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง