ภาวะ Mild Cognitive Impairment (MCI) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย เป็นสัญญาณเตือนหรือสัญญาณเริ่มต้น ที่อยู่ระหว่างภาวะความสามารถของสมองถดถอยปกติตามวัย (normal aging) กับ ภาวะสมองเสื่อม (dementia) ในภาวะ MCI นั้นพบว่าการทำงานของสมองจะบกพร่องลงอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้านดังนี้
1. สมาธิจดจ่อน้อยลง ส่งผลให้เผลอลืมกิจกรรมที่ต้องการจะทำ หรือกำลังทำอยู่ เช่น ต้มน้ำเอาไว้บนเตาแล้วลืม วางกุญแจไว้แล้วหาไม่พบ เป็นต้น
2. ความไวในการใช้ความคิดลดลง การตัดสินใจช้าลง รวมถึงการคิดแก้ปัญหาที่ซับซ้อนต่างๆ ทำได้ยากขึ้น เป็นต้น
3. ความจำเลวลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น เช่น เมื่อมีญาติมาเยี่ยมที่บ้าน วันต่อมาจำไม่ได้ว่ามีคนมาเยี่ยม หรือมีการพูดคุยกับใคร หรือพูดคุยเรื่องอะไรกัน เป็นต้น
4. ปัญหาเรื่องการใช้ภาษา เช่น เลือกใช้คำไม่ถูก พูดไม่รู้เรื่อง หรือฟังไม่เข้าใจ เป็นต้น
5. สูญเสียการจดจำทิศทาง ทำให้หลงทาง หรือสูญเสียทักษะในการทำงาน เช่น ไม่สามารถใช้เครื่องมือต่างๆที่เคยใช้ได้ เป็นต้น
6. ความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น แสดงอาการที่ไม่เหมาะสมออกมาในสังคม มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง ไม่สนใจที่จะเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง หรือมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า และมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เป็นต้น
โดยสัญญาณเตือนของภาวะ MCI เหล่านี้ ในช่วงแรก อาจดูไม่แตกต่างจากอาการที่พบในผู้สูงอายุปกติทั่วไป แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป จะสังเกตได้ว่าผู้สูงอายุปกติ อาการเหล่านี้จะยังค่อนข้างคงที่ ส่วนผู้ที่มีภาวะ MCI อาการเหล่านี้อาจเลวลง แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภาวะ MCI ยังคงมีสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันต่างๆได้ ในขณะที่ผู้ที่เข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมแล้ว อาการต่างๆจะรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จนผู้ป่วยอาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งการวินิจฉัยภาวะ MCI และภาวะสมองเสื่อมนี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางการแพทย์และจะต้องใช้การทดสอบทางจิตวิทยาคลินิกโดยผู้เชี่ยวชาญ
ได้มีการศึกษาวิจัยความชุกของภาวะ MCI ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่วิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุ พบประมาณ 5-36.7 % ทั้งนี้ความชุกของภาวะ MCI ในประเทศต่างๆขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับวิธีการวิจัย เช่น สถานที่ทำการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ประเมิน ช่วงอายุที่ทำการวิจัย ระดับการศึกษาและอาชีพของประชากรที่ทำการวิจัย ในประเทศไทย ภาคกลางมีรายงานความชุกของภาวะ MCI อยู่ระหว่าง 16.7-43.5% ในขณะที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงถึง 71.4% และ 64.3% ตามลำดับ
โดยตัวเลขที่แตกต่างกันนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงการศึกษาซึ่งประชากรในภาคกลางอาจจะเข้าถึงการศึกษาได้มากกว่าประชากรในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือนอกจากนี้จากผลการวิจัยพบว่าภายใน 1 ปี ผู้ที่มีภาวะ MCI ประมาณ 10 – 15% จะมีการดำเนินโรคที่รุนแรงขึ้น จนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ MCI มีได้หลายอย่างแต่พบสรุปได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆคือ 1.สาเหตุที่เกิดจากโรคทางกายต่างๆซึ่งอาจรักษาหรือป้องกันได้ 2.สาเหตุที่เกิดจากโรคเสื่อมของเซลล์สมอง ซึ่งโรคในกลุ่มนี้ยังไม่อาจรักษาได้แต่ก็อาจจะมีวิธีการชะลอการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคได้ในระดับหนึ่ง
ดังนั้นหากท่านหรือคนในครอบครัว มีอาการต้องสงสัยที่จะมีภาวะ MCI ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย และหาสาเหตุของการเกิดภาวะ MCI เพราะภาวะ MCI ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากสาเหตุที่สามารถรักษาได้ดังได้กล่าวข้างต้น เช่น โรคไทรอยด์ โรคขาดสารอาหาร หรือผลข้างเคียงของยาที่ใช้ในการรักษาโรคอื่นๆ เป็นต้น
ส่วนภาวะ MCI ที่เกิดจากโรคเสื่อมของเซลล์สมอง ซึ่งยังไม่อาจรักษาได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ แต่ก็มีวิธีการที่อาจชะลอการเกิดหรือลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง โดยการรักษาป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดการเสื่อมของเซลล์สมอง เช่นการควบคุมความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง งดการดื่มสุรา สิ่งเสพติดต่างๆ หรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้โรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง โดยเฉพาะ โรคอัลไซเมอร์ ในปัจจุบันได้มีการค้นคว้าวิจัยซึ่งจะนำไปสู่การรักษาโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งการรักษาดังกล่าวจำเป็นจะต้องทำการรักษาโรคนี้ในระยะเริ่มต้นหรือในระยะที่ยังอยู่ในภาวะ MCI ดังนั้นจะเห็นว่าการวินิจฉัยและการหาสาเหตุของภาวะ MCI จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์กัมมันต์ พันธุมจินดา นายกสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย และ ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การดูแลในเรื่องภาวะ MCI นั้นสำคัญมาก ซึ่งคนไทยควรให้ความสนใจ ตระหนักรู้ และเข้าใจถึงภาวะ MCI ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถทำการรักษาตามสาเหตุและตามอาการที่รักษาได้ หรืออาจชะลอการเกิดโรคได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วย รวมถึงผู้ดูแล ในการเตรียมตัวเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ในกรณีที่สาเหตุของโรคไม่สามารถทำให้หายขาดได้ สำหรับการดูแลทั่วไปในผู้ที่มีภาวะ MCI ได้แก่ การลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการเสื่อมของเซลล์สมอง ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งการออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการฝึกสมอง การดูแลด้านโภชนาการให้ได้สารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ตลอดจนการพักผ่อนหย่อนใจอย่างเพียงพอและการเข้าสังคมที่เหมาะสมกับวัย”
สมอง เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของร่างกาย ดังนั้น เราจึงควรดูแลและให้ความสำคัญ เพื่อคงประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้อยู่ได้นานที่สุด โดยวิธีการในการป้องกัน หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะ MCI ที่อาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมมีหลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การฝึกสมอง ด้วยวิธีการต่างๆ การเข้าสังคมในผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง ในด้านโภชนาการเนื่องจากผู้สูงอายุ อาจมีอาการเบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง จึงทำให้เกิดการขาดสารอาหารซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เกิดภาวะ MCI
ดังนั้นการได้รับโภชนาการที่เหมาะสมและเพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการเกิดภาวะ MCI นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยที่พบว่า การบริโภคอาหารประเภทเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีน้ำมันมะกอก พืชวงศ์ถั่ว ผัก ผลไม้ และปลา เป็นส่วนประกอบ เป็นต้น อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ MCI ได้ ในปัจจุบันได้มีการวิจัยคิดค้นอาหารทางการแพทย์ที่มีกลุ่มสารอาหารซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการทำงานของจุดเชื่อมต่อประสาท และการวิจัยเกี่ยวกับยาต่างๆ ที่อาจนำมาใช้ในการรักษาอาการในภาวะ MCI ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับภาวะ MCI