กลุ่มศิษย์เก่า ม.ศิลปากร ร่วมเชิดชู “อ.ลาวัณย์ อุปอินทร์” ศิลปินแห่งชาติผู้เป็นครูมาตลอดชีวิต ผ่านการแสดงนิทรรศการ “ลูกไม้ใต้ต้น” รวมผลงานนับ 200 ชิ้น จากศิลปินรับเชิญและคณะลูกศิษย์ ร่วมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยจิตรกรรมอันทรงคุณค่า ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 12 มีนาคมนี้
อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2559 กล่าวว่า หลังจากการจัดนิทรรศการภาพเขียน “ลาวัณย์ อุปอินทร์” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีที่ผ่านมา รวมทั้งการจัดกิจกรรม Workshop ให้กับผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมเรียนรู้การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ โดยมีกลุ่มศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ เข้ามาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ จากกิจกรรมในครั้งนั้นได้มีการพูดคุยร่วมกันถึงการจัดงานแสดงผลงานศิลปะ จากลูกศิษย์ของอาจารย์ลาวัณย์ รวมทั้งศิลปินรับเชิญ เป็นที่มาของนิทรรศการ “ลูกไม้ใต้ต้น” ขึ้นในครั้งนี้
นิทรรศการ “ลูกไม้ใต้ต้น” จัดขึ้น ณ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ถึง 12 มีนาคม 2561 จัดแสดงผลงานราว 200 ชิ้น โดยมีไฮไลท์คืองานแสดงภาพวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 งานแสดงภาพเหมือนอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ โดยศิลปินรับเชิญ ประกอบด้วย อาจารย์เกริกบุระ ยมนาค รศ. ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง ประดับใจ วงศ์ประเสริฐ อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ และผลงานจากศิลปินที่เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ลาวัณย์ 11 ท่าน ประกอบด้วย พรชัย สินนท์ภัทร ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ กวี ลักษณะสกุลชัย จิรวัฒน์ พราหมณ์ นิติกร กรัยวิเชียร ปัญจกร จันทะวงษ์ ไปรพจน์ จุลวงศ์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ระพี ลีละสิริ ศิลาวิศว์ พูลสวัสดิ์ อาจารย์สมพงษ์ แสงอร่ามรุ่งโรจน์ และ อนันต์ ประภาโส
“ครูอยากให้วงการศิลปะมีความเคลื่อนไหว มีพื้นที่ให้ศิลปินได้จัดแสดงผลงาน เพื่อให้ผลงานศิลปะที่มีความงามและคุณค่า ออกสู่สายตาของผู้ชมอย่างแพร่หลาย ซึ่งนับว่าสมัยนี้มีช่องทางที่เปิดกว้างขึ้นมาก สมัยก่อนตอนเรียนจบ มีแค่หอศิลป์ที่อโศก แต่ทุกวันนี้มีหอศิลป์มากขึ้น รวมทั้งมีการสนับสนุนจากทางรัฐบาล ภายใต้แนวคิดในการจัดสร้างหอศิลป์แห่งใหม่ด้วย”
ด้านลูกศิษย์ของ อ.ลาวัณย์ จื้อ-พรชัย สินนท์ภัทร หนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมแสดงงานในนิทรรศการ “ลูกไม้ใต้ต้น” กล่าวว่า การเข้าร่วมแสดงงานในครั้งนี้ ได้นำผลงานเข้าร่วมจำนวน 29 ภาพ ทั้งภาพเหมือนอาจารย์ลาวัณย์ และภาพในคอนเซ็ปต์ของตัวเอง เพื่อร่วมแสดงความรักและเคารพต่อครูผู้มอบวิชาและแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน
“ผมได้นำภาพเข้าร่วมแสดงผลงานจำนวน 29 ภาพ โดยหนึ่งในนั้นคือภาพเหมือนอาจารย์ลาวัณย์ โดยมีแรงบันดาลใจจากประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นลูกศิษย์ความรู้สึกที่เห็นในตัวอาจารย์คือ อาจารย์เท่มากและมีความสามารถมาก จึงถ่ายทอดภาพเหมือนของอาจารย์ในลักษณะที่สง่างามนั่งอยู่บนเก้าอี้ ผมเคารพและชื่นชมในตัวอาจารย์ และอยากเป็นเหมือนอาจารย์ ที่แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ร่างกายอาจทรุดโทรมลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สมองของอาจารย์ยังดีมาก ความคิด ความจำ ยังดีมาก เพราะการทำงานศิลปะจำเป็นต้องใช้ความคิดแม้ร่างกายไม่เอื้ออำนวย ก็ใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยสร้างผลงานได้ ขอยังให้มีความคิด เหมือนที่อาจารย์ยังคงสร้างสรรค์ผลงานมาจนถึงวันนี้”
ด้าน หมอ-ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ศิลปินนักวาดการ์ตูน กล่าวว่า จากประสบการณ์การเข้าเรียนกับอาจารย์ลาวัณย์ ท่านเป็นผู้สอนให้รู้ถึงความพอดีในการสร้างงานศิลปะ อันเป็นสิ่งที่นำมาใช้มาตลอดชีวิต อีกทั้งยังเป็นผู้จุดประกายการเดินเข้าสู่เส้นทางนักวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมือง โดยอาจารย์ลาวัณย์เป็นผู้ผลักดันให้เกิดวิชาวาดภาพล้อ (Art of Caricature) ในมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเชิญนักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียง อาทิ ชัย ราชวัตร ประยูร จรรยาวงษ์ อรุณ วัชระสวัสดิ์ มาเป็นผู้สอน ทำให้ความชื่นชอบในการวาดการ์ตูนของผม ได้พบกับเส้นทางที่เดินมาจนถึงวันนี้
การจัดนิทรรศการภาพเขียนของอาจารย์ลาวัณย์ ในปีที่ผ่านมา รุ่นพี่และรุ่นน้อง ได้กลับมาเจอ และมีการพูดคุยกันถึงการรวมตัวกัน เพื่อแสดงผลงานเพื่ออาจารย์ ในฐานะลูกศิษย์ โดยมีเป้าหมายในการเชิดชูความเป็นครูที่มีอยู่ในจิตวิญญาณของอาจารย์ลาวัณย์ และเผยแพร่ผลงานศิลปะให้ทุกคนได้สัมผัส
“งานหลักของอาจารย์ลาวัณย์ ไม่ใช่การเขียนรูป เพราะตลอดชีวิตของท่านคือการสอน พวกเราแค่ศิษย์กลุ่มหนึ่งเท่านั้น ยังมีลูกศิษย์อีกมหาศาลที่เป็นลูกไม้ใต้ต้น เราได้ร่มเงาของอาจารย์ลาวัณย์ และท่านยังเปิดช่องว่างให้ต้นไม้เล็กๆ ได้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ ผลงานของอาจารย์ไม่ใช่แค่งานจิตรกรรมภาพวาด แต่คือการสร้างคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า แล้วคนรุ่นต่อไปก็ไปสร้างผลงานต่อๆ ไป นับเป็นเส้นทางที่ ค่อยๆ เพิ่มรสนิยมในด้านศิลปะให้กับสังคมไทย”
งานนิทรรศการศิลปะ “ลูกไม้ใต้ต้น” เริ่มต้นขึ้นแล้วในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และจัดจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 12 มีนาคม เข้าชมได้ทุกวันเวลา 10.00-19.00 น. ยกเว้นวันพุธ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (บริเวณสะพานผ่านฟ้า) สำหรับกิจกรรมการ Workshop โดยกลุ่มลูกศิษย์ อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ในปีนี้ จะจัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-16.00 น. เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.queengallery.org http://facebook.com/queengallerybkk/ โทร.02-281-5360
ประวัติของอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์
อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ เป็นบุตรีของ พลเรือโทศรี ดาวราย หม่อมราชวงศ์อบลออ (สุบรรณ) ดาวราย ธิดาใน หม่อมเจ้าเทโพ สุบรรณ เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2478 เข้าเรียนในระดับมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2495 เป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี นับเป็นบัณฑิตหญิงคนแรกของคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภายหลังจากการจบการศึกษา ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และคณะมัณฑนศิลป์ ต่อเนื่องตลอดมา จนได้รับประกาศจากสภามหาวิทยาลัย ให้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในปี พ.ศ. 2549
ชีวิตส่วนตัว ได้สมรสกับอาจารย์ สมโภชน์ อุปอินทร์ มีบุตรชาย 1 คน และธิดา 1 คน ทั้งบุตรและธิดา ต่างจบการศึกษาจาก คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์มีผลงานการเขียนภาพถวายในพระราชตำหนักต่างๆ ตลอดจนบุคคลสำคัญต่างๆ มาโดยตลอด อีกทั้งมีผลงานการสอนศิษยานุศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ด้วยความเอาใจใส่ เป็นครูด้วยจิตวิญญาณ เสมือนที่ท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้มีต่อลูกศิษย์ของท่าน เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2559 นับเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม