เตรียมยกศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเป็นศูนย์ความร่วมมือ WHO ด้านยาต้านพิษ

57

ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก” เยี่ยมชม ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” จัดระบบช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านพิษ พร้อมชื่นชมไทยส่งยาต้านพิษรักษาผู้ป่วยไนจีเรีย เป็นการช่วยเหลือเพื่อมนุษยชน พร้อมหนุนยกเป็น ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านยาต้านพิษ” ต้นแบบประเทศอื่นพัฒนาระบบการเข้าถึงยา 

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก, พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr.Poonam Singh) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) และคณะผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานในการจัด ระบบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงู” ของ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งร่วมดำเนินการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการเพื่อให้ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเป็นร่วม ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านยาต้านพิษ” จากผลงานด้านการพัฒนาระบบการเข้าถึงยากำพร้า ไม่เพียงแต่ดูแลผู้ป่วยในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังดูแลผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดส่งยาต้านพิษโบทูลินัมแอนตีท็อกซิน (Botulinum antitoxin) ไปยังประเทศไนจีเรีย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รีบพิษจากโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum toxin)

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้ช่วยเหลือผู้ป่วยไนจีเรียที่ได้รับพิษโบทูลินัมท็อกซิน นับเป็นการช่วยชีวิต ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการช่วยเหลือเพื่อมนุษยชน โดยเป็นผลจากการพัฒนาระบบการเข้าถึงยากำพร้าที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้มองว่าควรมีการพัฒนาต่อยอด โดยองค์การอนามัยพร้อมสนับสนุนเพื่อให้ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีร่วมเป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านยาต้านพิษ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ผลงานที่เกิดขึ้นมาจากการจัดระบบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงู ทั้งในด้านบริหารจัดการ การจัดเก็บและการจัดส่ง เบื้องต้นเป็นการเริ่มต้นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยา จากการทำงานของศูนย์พิษวิทยาฯ และ สปสช.ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ดูแลผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยทั้งประเทศ รวมถึงยังช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศที่ขาดแคลนที่จำเป็นต้องได้ยาต้านพิษได้

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าวว่า เนื่องจากผู้อำนวยการใหญ่องค์กาอนามัยโลกได้เดินทางมาร่วมประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 จึงขอมาดูงานที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีด้วย จากกรณีที่ไทยสามารถจัดส่งโบทูลินัมแอนตีท็อกซินไปช่วยเหลือผู้ป่วยไนจีเรียได้ ทำให้อยากมาเยี่ยมชมระบบด้วยตนเองว่าเราทำงานกันอย่างไร เพราะจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประสานความร่วมมือไปหลายประเทศ แต่ไทยสามารถให้การช่วยเหลือได้โดยเร็ว

ส่วนที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีจะร่วมเป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านยาต้านพิษนั้น ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า อยู่ระหว่างกระบวนการขององค์การอนามัยโลกและคงมีการส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินศักยภาพก่อน นอกจากจะเกิดความร่วมมือการช่วยเหลือด้านยาต้านพิษแล้ว ประเทศไทยยังเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบเพื่อเข้าถึงยาต้านพิษให้กับประเทศต่างๆ ได้ ทั้งนี้ยาต้านพิษเป็นยากำพร้าที่มีความขาดแคลน และไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาทั่วโลก แต่จากความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสภากาชาดไทย ทำให้สามารถจัดการหากำพร้าเหล่านี้และกระจายให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ 

ดีใจที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีมาถึงวันนี้ อย่างน้อยก็มีคนเห็นประโยชน์ ที่ผ่านมาเราทำงานกันหนักมาก ไม่เคยถามหารางวัล เพียงแต่คิดว่าได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าให้กับประชาชน และวันนี้ที่ได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกก็รู้สึกภูมิใจ ทำให้เจ้าหน้าที่มีกำลังใจทำงานต่อไป” ศ.นพ.วินัย กล่าว