ภปค. ยื่น1 แสนรายชื่อถึงมือประธานสภา ชงแก้ กม.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ม

16

ภปค. ยื่น1 แสนรายชื่อถึงมือประธานสภา ชงแก้ กม.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ม เพิ่มประสิทธิภาพคุมโฆษณาห้ามใช้ตราเสมือน เพิ่มความรับผิดชอบของผู้ขาย ลดบทลงโทษฐานความผิดของผู้ดื่ม และเปิดช่องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม

ธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) พร้อมด้วย เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา องค์กรด้านเด็ก เยาวชน แอลกอฮอล์วอช เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และตัวแทนสมาชิก ภปค.กว่า 30 คน นำรายชื่อประชาชนกว่า 100,000 รายชื่อร่วมเสนอร่าง แก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยื่นถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านทาง นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชน ได้แต่งกายสะท้อนผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลายมิติ ทั้งอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท อาชญากรรม ผู้ป่วย โดยมีการชูป้ายข้อความ เช่น เมาแล้วขับทำคนตาย19,000 บาด เจ็บนับล้าน พิการ 60,000 ต่อ ปี เด็กในสถานพินิจกว่าร้อยละ 40 ก่อคดีภายใน 5 ชั่วโมงหลังดื่ม และข่าวความรุนแรงในครอบครัว มีสุราเกี่ยวข้อง กว่าร้อยละ 20 เป็นต้น

ธีรภัทร์ กล่าวว่า สาระสำคัญของ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับของ ภปค. ยึดเจตนารมณ์เดิมของกฎหมายไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ปกป้องเด็กและเยาวชน การคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและการลดผลกระทบทางสังคม เพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ห้ามการใช้ตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโฆษณา

ควบคุมการทำกิจกรรม CSR ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยให้บริจาคได้แต่ห้ามนำมาโฆษณา ปรับลดโทษในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับผู้ดื่ม เพิ่มสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งกับร้านค้าหรือผู้ที่ขายให้คนเมาครองสติไม่ได้หรือขายให้เด็กและไปเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น จะเห็นว่าร่างภาคประชาชนแตกต่างจากร่างของกลุ่มธุรกิจที่มุ่งส่งเสริมมากกว่าควบคุม ให้ยกเลิกมาตรการสำคัญๆ เช่น ยกเลิกการควบคุมการโฆษณาเหลือแค่ห้ามโฆษณาอันเป็นเท็จ ให้ขายได้ 24 ชั่วโมง ให้ขายในมหาวิทยาลัยได้ ให้คนของธุรกิจน้ำเมาเข้ามาอยู่ในกลไกคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ เป็นต้น

“การแก้ไขกฎหมายต้องเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งขอขอบคุณพี่น้องภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ที่ร่วมใจกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งทราบว่าโดยส่วนใหญ่ของผู้ที่ร่วมลงนาม อยู่ในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท ปัญหาสุขภาพของคนในครอบครัว ความทุกข์ทรมานจากสารพัดโรคที่มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของใครแต่เพื่อปกป้องลูกหลานและลดความเสียหายทางสังคมและสุขภาพประชาชน” ธีรภัทร์ กล่าว

ด้าน ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ใช้มานานกว่า 13 ปี ทำให้ข้อกฎหมายบางอย่างตามไม่ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการใช้สื่อสมัยใหม่ การมีผู้ผลิตรายใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้ารายใหญ่ยังมีการทำผิด แต่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง ทั้งนี้ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการยกร่างพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขออกมาในนามรัฐบาล ขณะเดียวกันฝั่งภาคธุรกิจที่เสนอร่างแก้ไขเข้ามาด้วยเช่นเดียวกัน แต่ฉบับของฝั่งธุรกิจพบว่ามีการปรับเนื้อหาที่น่ากังวลว่าเป็นการส่งเสริมการขาย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าการควบคุม

ธีระ กล่าวต่อว่า ล่าสุดได้มีการร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับภาคประชาชน ทั้งหมด 107,971 รายชื่อ แบ่งเป็นภาคเหนือตอนบน 10,779 รายชื่อ ภาคเหนือตอนล่าง 13,947 รายชื่อ ภาคตะวันตก 13,961 รายชื่อ ภาคตะวันออก 12,229 รายชื่อ ภาคกลาง 8,926 รายชื่อ ภาคอีสานตอนบน 23,083 รายชื่อ ภาคอีสานตอนล่าง 10,613 รายชื่อ ภาคใต้ตอนบนบน 9,262 รายชื่อ ภาคใต้ตอนล่าง 4,844 รายชื่อ อื่น ๆ 327 รายชื่อ จึงนำมายื่นต่อประธานสภาเพื่อขอให้พิจารณาคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์เดิม เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มากขึ้น และขอย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายควบคุม การจะส่งเสริมหรือว่าด้วยการผลิต ลดการผูกขาดนั้นต้องไปว่ากันที่ พรบ.ภาษีสรรพสามิต ไม่ใช่มารื้อกฎหมายฉบับนี้จนถอยหลังลงคลอง

สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังรับเรื่องว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ จะส่ง107,971 รายชื่อ ไปตรวจสอบว่าเป็นรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะนำเสนอต่อประธานรัฐสภาให้พิจารณาว่าร่างพ.ร.บ.นี้เข้าข่ายกฎหมายที่ประชาชนลงชื่อถูกต้องตามหลักการหรือไม่ ถ้าร่างฉบับนี้ผ่านการพิจารณารับหลักการ ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน จะเข้าสู่ระบบการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน หลังจากผ่านทุกขั้นตอนแล้วจะส่งให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรอง และเสนอประธานสภาบรรจุในระเบียบวาระต่อไป ทั้งนี้ฝากไปยังประชาชน ขอให้ออกมาแสดงความคิดเห็นตามสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ