5 ที่เที่ยวชัยภูมิ อิ่มบุญ อุ่นใจ วิถีเก๋ไก๋แดนอีสาน

514

ชัยภูมิเป็นอีกจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่ง “ธรรม” และ “ธรรมชาติ” ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และยังคงความสงบร่มเย็น ชัยภูมิมีพื้นที่มากเป็นอัน 7 ของประเทศไทย และมีพื้นที่ป่าถึง 60% ของจังหวัด  ที่นี่จึงเป็นอีกผืนป่าขนาดใหญ่ของประเทศ

นอกจากการมุ่งหน้ามาสัมผัสกลิ่นอายดอกไม้ใบหญ้า ได้เข้ามาผ่อนคลายอยู่ในอ้อมกอดของป่าเขาแล้ว ชัยภูมิยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางศรัทธา ทั้งวัดและสถานที่ปฏิบัติธรรมอันแสนสงบ

ไม่นานมานี้ การท่องเที่ยวประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) จัดเส้นทางท่องเที่ยว “สุดหรรษา พาใจอบอุ่น ร่วมงานบุญกับ หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม @ ชัยภูมิ สัมผัสธรรมชาติ ชมวิวหลักล้าน บนเขายายเที่ยง @ โคราช” เมื่อวันที่ 15 – 17 ตุลาคม 2564

ทริปอุ่นใจไปชัยภูมิในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ แล้ว ผู้ร่วมเดินทางยังได้เข้าร่วมงานบุญทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อร่วมสมทบทุนสร้างอาคารผู้ป่วยใน เป็นตึกสูง 10 ชั้น โรงพยาบาลเลย ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ประมาณ 470 ล้านบาท โดยอาคารดังกล่าวได้รับความเมตตาจาก “หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม” ผู้เป็นองค์อุปถัมภ์ โดยหลวงพ่อได้รวบรวมเงินบริจาค จากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา มาเป็นทุนในการก่อสร้าง

1.กราบพระธาตุชัยภูมิ ชมวิวมุมสูงภูแลนคา

สายฝนเดือนตุลายังคงกระหน่ำตลอดเส้นทาง วันแรกเมื่อมาเยือนชัยภูมิ เรามุ่งหน้าไปที่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์บนเนินสูงของภูแลนคา เพื่อเข้ากราบสักการะ “พระมหาธาตุรัชมงคลเจดีย์สิริชัยภูมิ” หรือ “พระธาตุชัยภูมิ” ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วัดอรุณธรรมสถาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีความโดดเด่น งดงาม ผสมผสานระหว่างศิลปะล้านช้างกับล้านนา องค์พระธาตุสีขาวสูง 21 เมตร ส่วนยอดขององค์พระเจดีย์หุ้มด้วยแผ่นทองสำริด และปิดทองคำเปลว เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ งดงามด้วยลวดลายงานปูนปั้น ทั้งบริเวณบันได และงานปูนปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ บริเวณโดยรอบเจดีย์ สามารถมองเห็นวิวเขาได้แบบพาโนรามา

เมื่อลงบันใดจากตัวเจดีย์ จะพบกับอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพลผู้สร้างเมืองชัยภูมิ หรือ “เจ้าพ่อพญาแล” ที่ชาวชัยภูมิเคารพบูชา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธศากยนฤมิตพิชิตมาร(หลวงพ่อมิ่งเมืองชัยภูมิ) รายล้อมด้วยความงดงามด้วยจิตรกรรมฝาผนัง  ด้านหน้ามี “กลองเจ้าเมือง” ขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการถวายจาก “นายวิเชียร จันทรโณทัย” ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ

ใกล้กันเป็นสวนป่าบนลานหินที่มีความร่มรื่น เป็นที่ตั้งของ “ร้านกาแฟต่อบุญ” (Torboon Coffee) เสียดายว่าวันนี้เราเข้ามาเย็นมากแล้ว พนักงานกำลังเก็บร้าน จึงพลาดโอกาสอุดหนุนร้านกาแฟของทางวัด

สถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติธรรมอรุณธรรมสถาน ดินแดนอันเงียบสงบบนยอดเขาช่องลม ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย และอยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวใกล้กับมอหินขาว และน้ำตกตาดโตน

ถือเป็นสถานที่อันเงียบสงบ มีศิลปกรรมที่เรียบง่ายแต่งดงาม ด้วยทำเลที่ตั้งบนเขาสูง ทำให้มองเห็นวิวได้กว้างไกล จึงเป็นอีกมุมมองอันน่าประทับใจ มีโอกาสเมื่อไหร่ก็อยากกลับมาเยือนอีกเสมอ

หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม

2.ตักบาตรยามเช้า-ทอดผ้าป่า วัดป่าห้วยกุ่ม

วัดป่าห้วยกุ่ม ต.หนองโพนงาม อ.เกษตรสมบูรณ์ จ. จังหวัดชัยภูมิ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสงบ ร่มรื่น  เปิดสำหรับให้ผู้คนเข้ามากราบไหว้และปฏิบัติธรรม ที่นี่จึงมุ่งเน้นความเงียบสงบ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้เข้าปฏิบัติธรรมต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด จะมีภาพความคึกคักอยู่บ้าง ในช่วงเทศกาลงานบุญประจำปีต่าง ๆ

เช้าตรู่ของวันที่ 18 ตุลาคม 2564 เรามุ่งหน้าสู่ “วัดป่าห้วยกุ่ม”  ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอันเงียบสงบ แต่ในวันนี้บรรดาลูกศิษย์ลูกหา ชาวบ้านในพื้นที่ ต่างปักหลักกันเป็นทางยาว บริเวณถนนทางเข้าวัด เนื่องจากวันนี้จะมีงานบุญใหญ่ โดยชาวคณะที่เดินทางไป 4 คันรถตู้ จะร่วมงานทอดผ้าป่าสามัคคี สมทบทุนสร้างโรงพยาบาลเลย (อาคาร 10 ชั้น) ร่วมกับชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธาที่มาจากทั่วทุกสารทิศ

“หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม” ซึ่งชาวชัยภูมิให้การขนานนามว่า “เทพแห่งสาธารณสุข” ท่านมักจะมีโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านการแพทย์ เช่นการสร้างโรงพยาบาล มอบเครื่องมือแพทย์  ล่าสุดมีโครงการสร้างอาคารผู้ป่วยโรงพยาบาลเลย มีสายบุญทั่วสารทิศมาร่วมทอดผ้าป่า เพื่อสบทบทุนในโครงการนี้กันอย่างคับคั่ง

บรรยากาศยามเช้าที่วัดป่าห้วยกุ่ม คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่กำลังจัดเตรียมสิ่งของและข้าวปลาอาหารก่อนที่พระสงฆ์จะออกรับบิณฑบาต สายฝนที่โปรยลงมาทำให้ทุกอย่างดูขลุกขลัก แต่ทุกคนก็ยังปักหลักอยู่ใต้ร่มเพื่อรอช่วงเวลาอันสำคัญ ก่อนที่พิธีต่าง ๆ จะลุล่วงไปได้ด้วยดี เป็นอีกงานบุญที่มีเป็นระเบียบเรียบร้อย ท่ามกลางจิตใจที่เอิบอิ่มของทุกคน

3.ส่องสัตว์โลกผู้น่ารัก ที่ทุ่งกะมัง ภูเขียว

ฝนที่ตกหนักในช่วงเดือนตุลาคม เกือบจะทำให้เราไม่ได้พบกับสัตว์โลกผู้น่ารักในดินแดนอันแสนอบอุ่นของพวกเขา เพราะที่นี่คือ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว”

“ภูเขียว” เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาเพชรบูรณ์ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสภาพป่าที่หลากหลาย โดยเฉพาะสภาพป่าดงดิบที่มีแมกไม้น้อยใหญ่ปกคลุมหนาแน่นเขียวชอุ่มตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีทุ่งหญ้ากระจายอยู่ในที่ราบสูง รวมทั้ง “ทุ่งกะมัง” ที่ผู้รักธรรมชาติสามารถเข้าไปชมชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ

ป่าภูเขียวเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ ช้าง กระทิง วัวแดง เลียงผา กวาง เก้ง เนื้อทราย เสือ หมาใน หมี หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี และจระเข้น้ำจืด

การเข้ามาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำเป็นต้องขออณุญาติเจ้าหน้าที่ และต้องเคารพกฎระเบียบต่าง ๆ เพราะบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ที่จะพบเห็น ทั้ง ช้าง กวาง ลิง ค่าง ชะนี หรือ นกยูง จะอยู่อาศัยกันตามธรรมชาติ นอกจากจะต้องระมัดระวังตัวเองแล้ว ยังต้องไม่ทำการใดอันเป็นการเบียดเบียดสัตว์ป่าและธรรมชาติ ต้องใช้เส้นทางเที่ยวชมตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น งดเว้นการใช้เสียงดัง หรือกิจกรรมบันเทิง ห้ามให้อาหารสัตว์ เข้ามาแล้วต้องนำขยะกลับออกไปด้วย ฯลฯ

อ.ศิลป์ชัยฟาร์ม

4.อาหารถิ่นวิถีเก๋ เสน่ห์ไทคอนสาร

หากมองหาความสดใหม่ในวิถีอันเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของชาวชัยภูมิ แนะนำให้เดินทางไปที่ อ.คอนสาร ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ในทริปนี้เราได้แวะกินข้าวเที่ยงกันที่ “อ.ศิลป์ชัยฟาร์ม” ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ศูนย์เครือข่าย ศพก. อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ เปิดให้บริการ ท่ามกลางบรรยากาศริมทุ่งนาเชิงเขา

หลังจากรับประทานอาหารท้องถิ่น อย่างปลาเผา ชุดน้ำพริกผักและทอดมันหัวปลี ต้มไก่ และผัดฉ่าปลานิลทอด ก็พากันไปเดินทอดน่องในศูนย์เรียนรู้ ซึ่งมีสะพานไม้เชื่อมระหว่างตัวบ้านกับหอชมวิว ฉากหลังเป็นภูเขาตั้งตระหง่าน นับเป็นช่วงเวลาแห่งการพักสายตาจากความเมื่อยล้า จากสีเขียวสดของท้องทุ่งในช่วงฤดูฝน

สำหรับมื้อเย็นของวันนี้ทางชุมชนได้จัดพื้นที่ในอาคารของวัดเจดีย์ เพื่อเลี้ยงต้อนรับคณะผู้เดินทาง

วันนี้ทางชุมชนเสิร์ฟชุดอาหารถิ่นคอนสาร หรือ “พาข้าวคอนสาร” ที่มี “คั่วเนื้อคั่วปลา” หรือ “คั่วหมูสมุนไพร” อาหารโบราณที่หารับประทานได้ในงานประเพณีสำคัญของอำเภอคอนสารเท่านั้น เพราะต้องใช้เวลาปรุงค่อนข้างนาน โดยจะนำเนื้อหมู เนื้อวัว หรือ เนื้อปลา มาย่างบนเตาถ่าน แล้วนำมาโขลกกับเครื่องสมุนไพรนานาชนิด ทั้งขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง กระเทียม คั่วกับน้ำมันมะพร้าวสดที่เคี่ยวจนแตกมันและแห้งจนมีกลิ่นหอม รับประทานกับผักพื้นเมือง เช่น ผักขี้นาก รสชาติหอม เผ็ดเค็มกำลังดี หน้าตาคล้ายคลึงกับคั่วกลิ้งของทางใต้

ในชุดยังมีปลาเผา และ “ลาบปูนา” เมนูพิเศษที่ได้ปูมาจากฟาร์มออร์แกนิคเครือข่าย “กลุ่มคนอินทรีย์ วิถีไทคอนสาร” ปรุงด้วยสมุนไพรที่ปลูกในสวนข้างบ้าน ปลอดภัยจากสารพิษ รสชาติหอมจากสมุนไพร ข่า หอมแดง ผักชีฝรั่ง  กินกับข้าวเหนียวอัญชันได้อย่างลงตัว

มุมมองจากสะพานไม้หมากฝากรัก อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

5.ข้ามสะพานไม้หมาก แล้วไปกราบพระพุทธรูป 100 ปี

“สะพานไม้หมากฝากรัก” ในชุมชนท่องเที่ยวฝายดินสอ อีกหนึ่งแลนด์มาร์คของ อ.คอนสาร ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพราะนอกจากจะเป็นสะพานที่ทำจากไม้หมาก ทอดยาวริมทุ่งกว้าง จากบริเวณนั้นยังเป็นจุดชมวิว 3 จังหวัด สามารถมองเห็นพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ เลย และชัยภูมิ ได้จากจุดเดียวกัน เป็นอีกกิมมิคที่น่าทึ่งมาก ๆ

ใช้เวลาเพียงไม่นานออกจากสะพานไม้หมาก เข้าสู่ “วัดเจดีย์” อีกสถานที่รวมศรัทธาของชาวชัยภูมิ เดิมเป็นวัดร้าง ถูกค้นพบอีกครั้งในปี พ.ศ.2333 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่  พร้อมเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง จากนั้นก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ แต่เดิมชื่อวัดธาตุหรือวัดโพธิ์ แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นวัดเจดีย์

พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ค้นพบเป็นพระพุทธรูปเนื้อศิลาแลง ปางมารวิชัย คล้ายศิลปะแบบขอม  คาดว่าสร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 8 ศอก มีลักษณะพุทธศิลป์สมบูรณ์และงดงาม  มีลักษณะเด่นคือพระโอษฐ์สีแดง อายุประมาณ 700 ปี ปัจจุบันชื่อว่า “พระพุทธชัยสารมุนี” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อพระประธาน”

ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและลานวัฒนธรรมสำหรับจัดกิจกรรมและการแสดงต้อนรับแขกผู้มาเยือน แต่วันนี้ฝนตก กิจกรรมต่าง ๆ จึงจัดขึ้นภายในอาคาร

เรื่องเล่าชาวคอนสาร

-ชื่อ “คอนสาร” ตั้งจากไม้หาบคอนพระราชสารในสมัยก่อน ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ส่งพระราชสารตราตั้งมายังพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งการเดินทางในสมัยนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องขึ้นเขาลงห้วยอย่างยาวไกล คนเดินพระราชสารจึงต้องห่อพระราชสารตราด้วยผ้าขาวและทำไม้หาบคอนมาส่งจนถึงหมู่บ้าน จนเป็นที่มาของชื่อ “คอนสาร” ในปัจจุบัน

-ภาษาพูดของชาวคอนสารจะแตกต่างจากภาษาอีสานทั่วไป เนื่องจากสำเนียงจะเหมือนภาษาของชาวนครไทยและหล่มสัก เพราะบรรพบุรุษมาจากเมืองพิษณุโลก คนทั่วไปและชาวคอนสาร จึงมักเรียกตนเองว่า “ไทคอนสาร” (Wikipedia)

-พาข้าว แปลว่า สำรับอาหาร, ถาดใส่อาหาร, การนั่งล้อมวงกินข้าว

 

ติดต่อท่องเที่ยว

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

โทร.08 4334 0043

อ.ศิลป์ชัยฟาร์ม อ.คอนสาร

รณชัย นามวิจิตร ประธานศูนย์เครือข่าย ศพก. อำเภอคอนสาร 08 7996 7275

อาหารท้องถิ่นไทคอนสาร

โทร. 09 2997 8515 (คุณกุ้ง)

หมายเหตุ : ผู้ร่วมเดินทางทุกท่าน ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามเงื่อนไขในการเดินทางเข้าจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 แบบ ATK Test ณ สำนักงาน อบจ.ชัยภูมิ ทันทีที่เข้าจังหวัด

 

ไปเที่ยวกันต่อ ในป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ

ป่าหินงามยามสาย กับเจ้าหญิงปลายฝน