ปัญหาในครอบครัว ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก เครือญาติ หรือผู้อยู่อาศัยในชายคาเดียวกัน แต่มันหมายถึงปัญหาของสังคม เพราะครอบครัวคือหน่วยเล็กๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นชุมชนและสังคมนั่นเอง
ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นั่นก็หมายถึงความรุนแรงในสังคม ที่ทุกภาคส่วนจะปล่อยปละละเลย เห็นเป็นเรื่องภายในบ้านใครบ้านมันไม่ได้
รายงานข่าวทางสื่อต่าง ๆแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ยังคงมีความน่ากังวลมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ายุคสมัยไหน ข่าวสามีตบตีภรรยา ความรุนแรงกระทั่งการเข่นฆ่า จากคู่สามี-ภรรยา และคู่แฟนที่ยังไม่ได้แต่งงาน ยังคงทวีความรุนแรงให้เห็น นอกจากนั้นยังมีความรุนแรงที่ส่งไปถึงลูก ซึ่งยังคงเป็นข่าวที่หนาหู
คาดการณ์โดยไม่ต้องอ้างอิงสถิติใดๆ ได้ว่า ความรุนแรงในครอบครัว ยังคงแอบซ่อนอยู่ในสังคมอีกมาก โดยที่ไม่ได้ปรากฏเป็นข่าว เพียงแค่ละแวกบ้านหรือชุมชนของคุณเอง ก็มีเรื่องเหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ
ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) เกิดได้กับคนทุกเพศวัย เกิดขึ้นได้ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่ที่ผ่านมา ด้วยความใกล้ชิด พื้นฐานจากความรักและความผูกพัน ทำให้ผู้ที่ได้รับความรุนแรงไม่ยอมเปิดเผยและเข้ารับคำปรึกษาหรือนำมาหาความใดๆ โดยหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่แล้ว หลายๆ กรณีก็แสดงให้เห็นว่า ไม่อาจจะดีขึ้นได้ และกลายเป็นความรุนแรงที่มากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ
ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการเพื่อรณรงค์ ส่งเสริม เพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ล่าสุด กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการสนับสนุนกลไกการพัฒนาองค์ความรู้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินโครงการดังกล่าว
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ ในหลายมิติของสังคม ผลการเก็บข้อมูลผู้ขอรับบริการ จากศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 พบว่า
ในปี 2560 มีข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว จำนวนทั้งสิ้น 1,869 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 1,578 ราย (เพิ่มขึ้น 291 ราย) แสดงให้เห็นว่า สถิติความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นทุกปี และข้อมูลจากเว็บไซต์ www.violence.in.th พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นคดี ในปี 2559 มีจำนวน 797 คดี และในปี 2560 มีจำนวน 1,207 คดี
นั่นแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นคดียังคงมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการคุ้มครองช่วยเหลือไกล่เกลี่ยจนยุติไม่เป็นคดี
ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีความพยายามในการรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ประสบปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว แต่ทว่า เป็นข้อมูลที่จำกัดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามารับบริการ โดยไม่รวมถึงผู้ประสบปัญหาที่ไม่ได้เข้ามารับบริการอีกเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็น “ช่องว่างด้านข้อมูล”
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า แต่เป็นที่น่ายินดี ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมี ศาตราจารย์นายแพทย์รณชัย คงสกนธ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้นำเรื่องสำรวจข้อมูลปัญหา ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ที่สามารถเป็นตัวแทนข้อมูลระดับประเทศ ชี้ให้เห็นถึงขนาดและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัญหา
จากการสำรวจ กลุ่มตัวอย่าง 2,280 ครัวเรือน พบว่ามีความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว จำนวน 787 ครัวเรือน คิดเป็นความชุก ร้อยละ 34.6 เมื่อแยกตามลักษณะภูมิภาค จะเห็นว่า ภาคใต้มีความรุนแรงในครอบครัวสูงสุด (ร้อยละ 48.1) อันดับ 2 ภาคกลาง (ร้อยละ 42.5) อันดับ 3 ภาคเหนือ (ร้อยละ 33.7) อันดับ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 32.7) และอันดับสุดท้ายคือ กรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 26)
นอกจากนั้นกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดย วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรอบรมออนไลน์ “การยุติความรุนแรงในครอบครัว” ขึ้น
หลักสูตรอบรมออนไลน์ “การยุติความรุนแรงในครอบครัว” มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจทั่วไป โดยรูปแบบการเรียนการสอนนั้น จะจัดทำในรูปแบบการเรียนออนไลน์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (E-learning) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาคุณภาพของการเรียนรู้ เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นสูง ผู้เรียนสามารถเข้าศึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อผู้เรียนศึกษาครบหลักสูตรจะมีการสัมมนาประมวลความรู้ก่อนรับวุฒิบัตรจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และองค์กรภาคี โดยจะเปิดรับผู้สนใจเข้าศึกษาในรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ยังคงหวังว่าความรุนแรงในครอบครัวสำหรับสังคมไทย จะลดน้อยลงไป เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน พร้อมสร้างสังคมที่เปี่ยมสุขอย่างแท้จริง
แจ้งปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว
- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300
- สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด
- มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196
- สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ศูนย์ประสานงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โทร.02-306-8774, 02-306-8983