แคมเปญ “รวมเป็นหนึ่งเพื่อสร้างสิ่งใหม่” เพื่อเข้าใจ และอยู่ได้กับโรคสะเก็ดเงิน

56
เครดิตภาพ : medium.com

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นหนึ่งในโรคที่ต้องดูแลและติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอาจส่งผลต่อการดูแลรักษาจนทำให้อาการกำเริบหรือแย่ลงได้

สถาบัน International Federation of Psoriasis Associations (IFPA)จัดแคมเปญ “รวมเป็นหนึ่งเพื่อสร้างสิ่งใหม่” (United)” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งผสานความร่วมมือระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเพื่อการรักษาและดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง เกิดจากการทำงานผิดปกติของเม็ดเลือดขาว ทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดง นูน และมีสะเก็ดสีขาว พบได้ทั่วร่างกาย เกิดได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด และการรักษาทำได้ในรูปแบบการควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

นอกจากนี้ โรคสะเก็ดเงินยังส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย (Systemic Disease) ที่ก่อให้เกิดโรคร่วมอื่นได้ เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะซึมเศร้าและปัญหาทางด้านจิตใจ ที่ล้วนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ในขณะที่คนทั่วไปที่ไม่รู้จักโรคนี้อย่างแท้จริงอาจมีความเข้าใจผิดและสร้างข้อจำกัดให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตร่วมในสังคมได้ยากขึ้น ดังนั้น แคมเปญ “รวมเป็นหนึ่งเพื่อสร้างสิ่งใหม่” (United) จึงถือเป็นสื่อกลางที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและกระตุ้นความร่วมมือระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประวิตร อัศวานนท์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลขาธิการสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะพิจารณาอาการของผู้ป่วยแต่ละรายที่นอกจากอาการทางร่างกายแล้วจำเป็นต้องประเมินอาการทางด้านจิตใจควบคู่กันด้วย โดยแคมเปญนี้ เน้นความสำคัญด้านความร่วมมือในการรักษา แพทย์จะต้องเปิดโอกาสและสร้างความไว้ใจให้ผู้ป่วยได้บอกเล่าสิ่งที่ตนเองต้องเผชิญจากการเป็นโรคนี้ นอกเหนือจากอาการทางกายที่แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้เอง ดังนั้น ความร่วมมือร่วมใจเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาได้อย่างตรงจุดและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประวิตร อัศวานนท์

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับโรคสะเก็ดเงินนั้นยังดูแลรักษาผู้ป่วยได้ตามปกติ ยกเว้นบางรายที่จำเป็นต้องใช้ยากดภูมิบางตัว ที่ต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ที่ดูแลอยู่ ทั้งในเรื่องของการเตรียมตัวเข้ารับวัคซีนป้องกัน โควิด-19 หรือความจำเป็นในการหยุดยากดภูมิ เป็นต้น ทั้งนี้ ถือเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ควรจะต้องมีการติดตามความรู้ อัพเดทข้อมูลและติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งเรื่องยา วัคซีน และโรคอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในช่วงการระบาดของโรค เทคโนโลยีอย่างการรักษาแบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ยังมาช่วยเสริมศักยภาพในการดูแลรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบัน แพทย์ให้ความสำคัญกับ Telemedicine เป็นอย่างมากและเชื่อว่าในอนาคตจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้น อย่างในช่วงการแพร่ระบาดเอง คนไข้หรือผู้ดูแลสามารถปรึกษาอาการกับทีมแพทย์ได้ทันทีที่บ้าน ไม่ต้องเหนื่อยกับการเดินทาง แต่สิ่งสำคัญในการใช้ Telemedicine คือ เรื่องการให้ข้อมูลจากแพทย์สู่คนไข้ที่จะต้องกระชับ ชัดเจน และเข้าใจง่าย และเมื่อสถานการณ์ระบาดสงบลง แพทย์ก็จะได้ดูแลอาการคนไข้ได้ตามปกติ” นายแพทย์ประวิตร กล่าวเสริม

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ทางด้านแพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า “โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อย ความชุกทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 0.5-5 ของประชากร ในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 2 ของประชากร หรือประมาณ 140,000 รายทั่วประเทศ โดยมากพบในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่าและพบว่ามีประวัติของโรคในครอบครัวสูงกว่าในกลุ่มคนช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ

โดยโรคสะเก็ดเงินถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่อยู่ภายใต้การดูแลจากภาครัฐอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นยารักษาอาการ การรักษาด้วยการฉายแสง โดยอยู่ในสิทธิประโยชน์การรักษาของประชาชนทุกสวัสดิการ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ นอกจากนี้ ในยุคที่มีการพัฒนาค้นพบการรักษาใหม่ ๆ ของโรคสะเก็ดเงิน เช่น ยาทาชนิดใหม่ หรือยาชีววัตถุ (Biologic drugs) ก็ได้มีการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตลอดจนความคุ้มทุนของการรักษาใหม่ ๆ นั้นเพื่อบรรจุเข้าเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษานั้นได้อย่างรวดเร็ว รวมถึง Telemedicine ซึ่งภาครัฐก็ได้อนุญาตให้มีการเบิกจ่ายเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง

“ในอนาคตจะมีการพัฒนาแผนให้บริการผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินในแผนการให้บริการหลัก (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างทั่วถึง และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรทั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงทั่วประเทศ พร้อมทั้งการบูรณาการการรักษาโรคสะเก็ดเงินและโรคร่วมต่าง ๆ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและนอกประเทศ” แพทย์หญิงมิ่งขวัญ กล่าวสรุป