โรช ไทยแลนด์ จัดการเสวนาในหัวข้อ “ภารกิจพิชิตมะเร็งตับ : ภัยเงียบอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนไทย” เพื่อนำเสนอความรู้ด้านการดูแลสุขภาพตับให้แก่คนไทย โดยภายในงานได้รับเกียรติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ตัวแทนภาครัฐ รวมถึงผู้สุ่มเสี่ยงและผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ มาร่วมพูดคุยเจาะลึกถึงประเด็นต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์มะเร็งตับของไทยในปัจจุบัน สาเหตุการเกิดมะเร็งตับในผู้ป่วย แนวทางการรักษา ความก้าวหน้าของยา โครงการสนับสนุนจากรัฐ และความพยายามเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ดีขึ้นในอนาคตต่อไป
ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว เปิดเผยถึงบทบาทและความมุ่งมั่นของโรชในภารกิจพิชิตมะเร็งตับที่สอดคล้องกับสถานการณ์มะเร็งตับของไทยในปัจจุบันว่า “คนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งตับปีละกว่า 30,000 คน โดยมีคนไทยที่เสียชีวิตจากมะเร็งตับมากถึง 3 คน ต่อ 1 ชั่วโมง ซึ่งหากเปรียบกับโรคระบาดโควิด-19 จะพบว่า ในช่วงเวลา 22 เดือนที่ผ่านมา โควิดได้คร่าชีวิตคนไทยประมาณ 18,799 คน ในขณะที่มะเร็งตับคร่าชีวิตผู้ป่วย 26,704 คน จาก 27,394 อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาแค่ 12 เดือนเท่านั้น โรช จึงทุ่มทุนวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมการรักษา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงการรักษามะเร็งตับได้อย่างถูกต้อง และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและทุก ๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไป เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อย่างที่ประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จมาแล้วกับมะเร็งเต้านม ที่เราสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ครึ่งหนึ่งของการเกิดอุบัติการณ์ทั้งหมด”
นอกจากนี้ นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รพ.พระปกเกล้า ด้านศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงด้านมะเร็ง ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับมะเร็งตับว่า มะเร็งตับส่วนใหญ่เกิดจาก โรคตับแข็ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มแอลอฮอล์เป็นประจำ และเกิดจากสาเหตุตับอักเสบจากไขมันพอกตับ ภาวะอ้วน รวมถึงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี และผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีพยาธิทำให้ท่อน้ำดีอักเสบ ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และเป็นมะเร็งตับ ซึ่งเป็นภัยเงียบ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการในระยะแรก พอมาตรวจเจอในระยะท้าย ๆ ต้องรักษาตามอาการแล้ว เพราะตัวเนื้อตับไม่ไหว การรักษาอาจไม่เป็นผล ซึ่งจะมีโอกาสมีชีวิตต่อประมาณเพียง 3 เดือน ทั้งนี้ แนะนำให้ทุกคนตรวจร่างกายอย่างละเอียด ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบและฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิ เพื่อป้องกันมะเร็งตับไม่ให้เกิดขึ้นกับเรา”
ในด้านความก้าวหน้าและการสนับสนุนจากทางภาครัฐ นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เผยว่า “ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา สปสช.ได้เปิดตัวโครงการ Cancer Anywhere เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งด้านค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และเทคโนโลยีการรักษา โดยจากข้อมูลสถิติล่าสุด มะเร็งกลายเป็นโรคที่ผู้ป่วยไม่ลดลงเลยถึงแม้จะเกิดโควิดอยู่ จึงเป็นภัยร้ายที่น่ากลัว ภาครัฐ โรงพยาบาล และองค์กรอื่น ๆ ทุกสังกัดทำกิจกรรมร่วมกันในโครงการนี้ จะมีพยาบาลคอยดูคิวผ่าตัด ฉายแสง ทำเคมีบำบัด ทำให้สามารถรักษาได้เร็ว ไม่ต้องเสี่ยงดวงและไม่ต้องเสียเงิน ทางเราจะมีเครือข่ายส่งต่อระหว่างกันในแต่ละโรงพยาบาลผ่าน สปสช. ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องรอนาน และเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น”
ในฐานะอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา นพ.ภาสกร กล่าวว่า ในประเทศไทยมีนวัตกรรมการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับด้วยยารักษาครอบคลุมทุกชนิดแล้ว โดยมีการรักษาที่แตกต่างกันในผู้ป่วยมะเร็งตับในแต่ระยะ และจากสถิติที่เคยศึกษาในปี 2012* ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาในระยะต่างๆ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามระยะโรค ผู้ป่วยมะเร็งตับจะมีอายุยืนยาวขึ้นในแต่ระยะโดยมีนัยยะสำคัญดังนี้
• ระยะที่ 1 (ระยะ A) มีก้อนเล็กๆ หากคนไข้ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เปลี่ยนตับ หรือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงละลายก้อนเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มเป็น จะสามารถยืดชีวิตผู้ป่วยยาวขึ้นได้ถึง 120 เดือน จาก 30 เดือน ในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาใดๆ
• ระยะที่ 2 (ระยะ B) หรือระยะกลางที่ก้อนเริ่มใหญ่ขึ้น หากได้รับการสวนอุดเส้นเลือด จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 26 เดือน จาก 15 เดือน
• ระยะที่ 3 (ระยะ C) ระยะกระจายแต่เนื้อตับยังพอรักษาได้ หากใช้ยานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การใช้ยาร่วมกันหลายๆ สูตร ตั้งแต่การให้ ยามุ่งเป้า ร่วมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัด ออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดโดยตรง ผู้ป่วยจะมีโอกาสยืดชีวิตมากกว่า 19 เดือน จาก 7 เดือน
• ระยะที่ 4 ระยะสุดท้าย (ระยะ D) การทำงานของเนื้อตับพร่องไปเยอะมากแล้ว จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ตั้งแต่การฉายแสง ให้มอฟีนแก้ปวด หรือใช้ยาร่วม สามารถยืดอายุผู้ป่วยได้ประมาณ 3 เดือน จาก 1 เดือน
“ตามสถิติของคนไทย* ผู้ป่วยมะเร็งตับมักเป็นเพศชาย จะเริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป เป็นวัยแรงงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 31 ปี ถึง 60 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น จะสามารถผลักดันประเทศต่อไปได้ นพ.ภาสกร” กล่าวเสริม