ไอบีเอ็ม ชี้ หมดยุคการใช้งานคลาวด์จากผู้ให้บริการรายเดียว

8
สุรฤทธิ์ วูวงศ์

ในประเทศไทย 70% ของผู้บริหารที่สำรวจ มองว่าการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลอยู่ เป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่ง และจะทำให้เกิดการใช้คลาวด์เฉพาะอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ภายใต้สถานการณ์การโจมตีไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 93% ของผู้บริหารที่สำรวจ ระบุว่าการลงทุนด้านซิเคียวริตี้ เป็นหนึ่งในการลงทุนด้านธุรกิจและไอทีที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุด

ผลการศึกษาระดับโลกของไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) เกี่ยวกับทรานส์ฟอร์เมชันของการใช้คลาวด์ ชี้ให้เห็นถึงความต้องการขององค์กรธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2564 ไม่มีผู้บริหารไทยที่ตอบแบบสำรวจแม้แต่รายเดียว ที่ระบุว่ายังใช้คลาวด์จากเวนเดอร์รายเดียว หรือยังใช้พับบลิคคลาวด์เพียงอย่างเดียวอยู่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับ 16% ในปี 2562 โดยสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จากนี้ไปไฮบริดจ์คลาวด์จะกลายเป็นสถาปัตยกรรมไอทีที่มีการใช้งานและมีความสำคัญสูงสุด

การศึกษาทั่วโลกโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็มหรือ IBV ภายใต้ความร่วมมือกับอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับ C-suite จำนวน 7,200 ราย ใน 28 อุตสาหกรรม ใน 47 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยการศึกษาพบว่าตลาดคลาวด์ได้เข้าสู่ยุคไฮบริดมัลติคลาวด์แล้ว ขณะที่ข้อกังวลเกี่ยวกับการ lock-in โดยผู้ให้บริการรายเดียว รวมถึงความกังวลด้านซิเคียวริตี้ การปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่กำกับดูแล และความสามารถในการทำงานข้ามระบบ ยังคงเป็นปัญหาที่มีความสำคัญสูงสุด ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า

ภัยคุกคามไซเบอร์พุ่งสูงสุดเป็นประวัติกาล[1]
• ความซับซ้อนของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีกำลังสร้างช่องโหว่การโจมตี และอาชญากรไซเบอร์ก็กำลังใช้ประโยชน์จากช่องโหว่เหล่านี้
• ในประเทศไทย 93% ของผู้บริหารที่สำรวจ ระบุว่าการลงทุนด้านซิเคียวริตี้ เป็นหนึ่งในการลงทุนด้านธุรกิจและไอทีที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุด
• ขณะเดียวกัน ผู้บริหาร 83% มองว่าระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมคลาวด์ทั้งระบบ เป็นสิ่งสำคัญหรือสำคัญอย่างยิ่ง โดยส่วนใหญ่มองว่าเป็นกลไกสำคัญหากต้องการให้โครงการดิจิทัลต่างๆ ประสบความสำเร็จ

บริษัทต่างๆ หนีกับดักผู้ให้บริการรายเดียว (vendor lock-in)
• 85% ของผู้บริหารไทยที่สำรวจ มองว่าเวิร์คโหลดที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ติดกับดัก lock-in ของผู้ให้บริการรายเดียวนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของโครงการด้านดิจิทัลของตน
• ผู้บริหารไทยเกือบ 62% ที่สำรวจ มองว่ากับดัก lock-in ของผู้ให้บริการคลาวด์ เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจส่วนใหญ่หรือทั้งหมดที่อยู่บนคลาวด์

จากคลาวด์สาธารณะสู่คลาวด์เฉพาะอุตสาหกรรม
• เกือบ 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจในหน่วยงานภาครัฐและภาคบริการทางการเงินทั่วโลก มองว่าความจำเป็นในการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลอยู่ เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของระบบคลาวด์ที่ใช้อยู่

“การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้องค์กรเริ่มคิดทบทวนถึงคุณค่าที่ได้จากการเก็บแอพพลิเคชันต่างๆ ไว้ในระบบในองค์กร (on-premise) และหันมาพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น ว่าแอพพลิเคชันไหนควรอยู่บนคลาวด์ และอันไหนควรได้รับการเก็บอยู่ในระบบภายในองค์กรต่อไป” สุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “ความซับซ้อนของระบบโครงสร้างพื้นฐานกำลังสร้างช่องโหว่การโจมตี และอาชญากรไซเบอร์เองก็กำลังหาทางใช้ประโยชน์จากช่องโหว่เหล่านี้ วันนี้ ผลการศึกษาตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า การจะเดินหน้าสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้อย่างประสบความสำเร็จนั้น องค์กรต้องมีเครื่องมือด้านซิเคียวริตี้ บรรษัทภิบาล และการควบคุมให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับที่กำกับดูแล ที่ต้องสามารถทำงานข้ามระบบคลาวด์ต่างๆ และผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมคลาวด์ทั้งระบบ”

การศึกษายังแนะนำให้องค์กรควรประเมินตนเองว่าใช้งานระบบคลาวด์อย่างไร ทั้งในแง่มุมของรูปแบบการใช้งาน อัตราการใช้งาน การไมเกรทระบบ ความเร็ว รวมถึงโอกาสในการช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยข้อแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้
• เน้นการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว องค์กรต้องดูว่าเวิร์คโหลดที่มีความสำคัญถูกจัดเก็บอยู่ที่ไหน และไตร่ตรองให้ดีว่าใครและระบบใดที่ควรจะสามารถเข้าถึงเวิร์คโหลดเหล่านั้นได้ โดยองค์กรต้องทดสอบอย่างสม่ำเสมอว่ามีการปฏิบัติตามการควบคุมด้านความปลอดภัยและนโยบายความเป็นส่วนตัว และมีการแก้ไขอย่างทันท่วงทีหรือไม่เมื่อพบการตั้งค่าระบบผิดหรือช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ที่ใช้

• ถามตัวเองว่าเวิร์คโหลดใดควรย้ายไปคลาวด์ องค์กรต้องเข้าใจภาพรวมของสภาพแวดล้อมไอทีของตน เพื่อที่จะสามารถกำหนดได้ว่า เวิร์คโหลดและแอพพลิเคชันใดที่จะให้คุณค่ามากที่สุดหากอยู่บนคลาวด์ และส่วนใดเหมาะที่จะอยู่บนระบบภายในองค์กรมากกว่า
• ใช้ข้อมูลทำงานแทน องค์กรควรใช้เครื่องมือ AI และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์เวิร์คโหลด เพื่อตัดสินใจว่าควรเก็บข้อมูลไว้ที่ไหนและอย่างไร ถึงจะถูกที่และสมเหตุสมผลมากที่สุด

• กำหนดกลยุทธ์และแนวทางที่เหมาะสม ว่าควรเพิ่มหรือลดการใช้เทคโนโลยีในส่วนใด เช่น การเลือกแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อปรับปรุงแอพพลิเคชันที่มีความเฉพาะเจาะจงให้ทันสมัย และจัดการกับปัญหาที่สำคัญอย่างการรักษาความปลอดภัย การกำกับดูแล และการกู้คืนเมื่อระบบล่ม
• เลือกทีมที่ใช่ ฟอร์มทีมด้วยคนที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน เพื่อช่วยกันคิดใหม่และมองมุมใหม่ว่าองค์กรจะสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าได้อย่างไร

ผลการศึกษาทั่วโลกเพิ่มเติมจากรายงานฉบับปีนี้ยังคลอบคลุมถึง
• ผลการศึกษาจำแนกตามอุตสาหกรรม โดยผู้ตอบแบบสำรวจในอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐ (85%) และบริการทางการเงิน (80%) มองว่าเครื่องมือที่กำกับดูแลและควบคุมให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับ ที่สามารถทำงานข้ามคลาวด์หลายระบบได้ ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการดิจิทัล
• ผลการศึกษาจำแนกตามอุตสาหกรรม ในปี 2564 มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 1% ในอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประกันภัย การผลิต โทรคมนาคม การขนส่ง และท่องเที่ยว ที่ระบุว่ายังใช้ไพรเวทคลาวด์หรือพับบลิคคลาวด์จากผู้ให้บริการเพียงรายเดียว

ดูผลการศึกษาฉบับเต็มได้ที่ https://www.ibm.com/thought-leadership/institute-business-value/report/cloud-transformation

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็มหรือ IBV ได้ที่ https://www.ibm.com/thought-leadership/institute-business-value/

ข้อมูลอ้างอิง
[1] 2021 Cost of a Data Breach report by the Ponemon Institute, sponsored by IBM