สสส. ผนึกภาคี จัดเสวนาวันเหยื่อโลก

25

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเมาไม่ขับ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาเนื่องในโอกาส วันโลกรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (วันเหยื่อโลก) The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims (WDR) หัวข้อ “การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมและสุขภาพจิตของเหยื่ออุบัติเหตุ”

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATION : UN) ได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนนั้น ซึ่งประเทศไทยมีมติคณะรัฐมนตรี ปี 2555 ประกาศให้วันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์วันเตือนสติให้ทุกคนใช้รถใช้ถนนร่วมกันอย่างรับผิดชอบต่อทุกชีวิต เพื่อลดจำนวนเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนน

ทั้งนี้จากข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จากระบบบูรณาการข้อมูล 3 ฐาน กรมควบคุมโรค พบว่า ผู้เสียชีวิตตั้งแต่ พ.ศ.2554-2563 เฉลี่ยปีละกว่า 20,000 คน และแนวโน้มการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และ 74% ของผู้เสียชีวิต คือ คนใช้รถจักรยานยนต์ ข้อมูลจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เดือน ม.ค.-มิ.ย.64 พบผู้บาดเจ็บ 431,474 คน ซึ่ง 30% ของผู้บาดเจ็บนี้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และในจำนวนนี้ อาจจะต้องกลายเป็นผู้พิการรายใหม่เพิ่มขึ้น

“สสส. ได้ขับเคลื่อน หนุนเสริม และผลักดันการบังคับใช้กฎหมาย ในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมาโดยตลอด การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนที่สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หลายคนกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ก่อเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสภาพจิตใจผู้สูญเสียที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม การไม่ได้รับความเป็นธรรม ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันอย่างจริงจัง อย่าให้มีเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนนต้องถูกกระทำซ้ำอีก” รุ่งอรุณ กล่าว

สุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อทุกคน ทุกฝ่าย สิ่งที่จะสามารถเยียวยาได้ คือกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้เหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้ 1.ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ทำคดีอย่างโปร่งใสให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเท่าเทียม 2.หน่วยงานสภาทนายความ องค์กรสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาดูแล เพราะบางครั้งประชาชนไม่รู้กฎหมาย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ไม่รับผิดชอบ จึงอยากให้ทางตำรวจและภาครัฐลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังและเข้มงวด เพื่อความเป็นธรรมของเหยื่อที่ต้องสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน

ด้าน ศิริกานต์ วงศ์สวัสดิ์ ผู้เสียหาย กล่าวว่า ได้รับบาดสาหัสจากอุบัติเหตุรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์เสียหลัก และชนท้ายรถสองแถวรับจ้างซ้ำ มีผู้บาดเจ็บ 12 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา นอกจากบาดเจ็บซี่โครงร้าว แขนหัก ต้องเข้าเฝือกลำตัว ยังต้องสูญเสียลูกแฝดในครรภ์ถึง 3 คน ยังมีคนบาดเจ็บต้องกลายเป็นผู้พิการ ป่วยติดเตียงอีกจำนวนมาก ได้รับการช่วยเหลือเพียงเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน จากเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตและพนักงานของบริษัท ที่จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ โดยการประสานงานช่วยเหลือของเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ (ขสย.) เท่านั้น กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรัดดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้เหยื่อและผู้ประสบเหตุจากอุบัติเหตุในครั้งนี้

ไอ คงสุข นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น โครงการกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ต.หนองผักแว่น อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี กล่าวว่า ตนเองมีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 1 คน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 จากการขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อกับข้าว ที่ตลาดห่างจากบ้าน แค่ 500 เมตร โดยไม่สวมใส่หมวกกันน็อก เกิดอุบัติเหตุชนจักรยาน เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อจิตใจเป็นอย่างมาก แต่โชคดีมีจังหวะที่ร่วมงานกับ สสส. และเครือข่ายต่างๆ ให้ช่วยทำงาน ซึมซับและได้กำลังใจหลายด้าน จนพลิกตัวเองมาทุ่มเทงานด้านอุบัติเหตุ ชักชวนคนเลิกเหล้า เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและเซฟชีวิตให้คนรุ่นหลัง

ขณะที่คงศักดิ์ วงศ์สวัสดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถขับขี่ยานพาหนะได้เร็วมากขึ้น พฤติกรรมการขับขี่ที่ประมาทเลินเล่อ ส่งให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุทวีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปัญหาความยุติธรรมในคดีความ ที่ต้องยกระดับกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน จึงเป็นเรื่องที่สมควรต้องร่วมคิดร่วมทำและดำเนินการทันที เพื่อคืนสิทธิความเป็นมนุษย์และความเป็นธรรมให้กับเหยื่อทุกคน เพราะปัญหาอุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นสถานการณ์สำคัญของประเทศที่ต้องร่วมกันหาทางออกเพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้มีในหัวใจทุกคน ตลอดจนการรักษาฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้กับผู้สูญเสียได้