80 ปีฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต

39

26 ภาคีเครือข่ายทันตสุขภาพ ประกาศเจตนารมณ์ ขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปีฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต” ป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปาก สร้างทุกข์เมื่องสูงวัย สสส. เผย ฟันผุ เสี่ยง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผลักดัน คนทุกกลุ่มเข้าถึงระบบบริการทันตกรรมเท่าเทียม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และเครือข่ายวิชาชีพด้านทันตกรรม 26 องค์กรประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนนโยบาย 80 ปีฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิตเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสิทธิการเข้าถึงระบบบริการด้านทันตกรรม พร้อมจัดเวทีเสวนาขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปี ฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต”

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้าเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในปี  2565 ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ โดยจะมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 สุขภาพช่องปากเป็นมิติทางสุขภาพที่ต้องให้ความสำคัญ โดยปัญหาช่องปากที่พบในผู้สูงอายุ ได้แก่ 1.โรคฟันผุและโรคปริทันต์ 2.มีฟันธรรมชาติเหลือน้อยกว่า 20 ซี่ สสส. และภาคีเครือข่าย จึงเร่งผลักดันให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทันตกรรมเท่าเทียม มีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุ 60 – 75 ปี ต้องมีฟันธรรมชาติและฟันเทียมเหลือใช้อย่างน้อย 20 ซี่ เพราะการมีปัญหาช่องปากหรือมีฟันไม่เพียงพอ สร้างความทุกข์ให้กับผู้สูงอายุในอนาคต

“สุขภาพช่องปากมีความสัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพราะอาจทำให้เกิดโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองตีบตัน รวมถึงการสูญเสียฟันจำนวนมากทำให้เกิดภาวะทุพโภชนา ที่มีผลต่อน้ำหนักตัว และสุขภาพจิตของทุกคน สสส. ได้ร่วมบูรณาการทำงานกับหลายหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้สังคมเห็นความสำคัญของสุขภาพฟันที่ดี การประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นเดินหน้ารณรงค์นโยบายฟันดีสำหรับคนทุกช่วงวัยเพื่อสุขภาวะที่ดี”ดร.สุปรีดา กล่าว

ทพญ.วรางคนา เวชวิถี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจะให้ผู้สูงอายุในวัย 80 ปี มีฟัน 20 ซี่ ต้องทำไปพร้อมๆ กันหลายมิติ ทั้งการดูแลด้วยตนเองเบื้องต้นว่าควรไปรับบริการทันตกรรมเมื่อใด โดยต้องรู้สิทธิพื้นฐาน และอีกส่วนคือการเข้าถึงบริการที่ควรเน้นด้านการส่งเสริมและป้องกัน ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพในช่องปากควรเริ่มตั้งแต่วัยก่อนสูงอายุ ด้วยการพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

จากข้อมูลพบว่าคนส่วนใหญ่สูญเสียฟันในช่วงวัยทำงานตอนปลายไปจนถึงอายุ 60 ปี ประมาณ 10 ซี่ และหลังจากนั้นตั้งแต่ช่วงอายุ 60-80 ปี จะสูญเสียฟันอีกประมาณ 10 ซี่ แต่หากตรวจสอบและพบความผิดปกติในช่องปากเบื้องต้นได้ การป้องกันและรักษาจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงสูงวัยได้ และสามารถเก็บรักษาฟันไว้ได้ตาม นโยบาย 80 ปี ฟันดี 20 ซี่