แม้จะเป็นโรคที่หายไปจากสังคมไทยถึง 9 ปี โดยไม่มีการระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดนกเข้าสู่คนอีกเลย แต่โรคนี้ก็ยังอยู่ในการเฝ้าระวังและติดตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน ที่จะมีการบริโภคสัตว์ปีกมากขึ้น ดังนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ออกมาแนะนำการเลือกซื้อสัตว์ปีกพร้อมผักและผลไม้ ในช่วงตรุษจีนนี้
นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนปีนี้ ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนจะนำเป็ด ไก่จำนวนมากมาเป็นส่วนประกอบในพิธีไหว้บรรพบุรุษหรือไหว้เจ้า ซึ่งหากสัตว์ปีกมีเชื้อไข้หวัดนก ประชาชนอาจเสี่ยงติดเชื้อจากการบริโภคสัตว์ปีกหรือสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนก
ที่ผ่านมากรมควบคุมโรค ได้ดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันยังไม่พบรายงานการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในคน ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา และปัจจุบันไม่มีโรคไข้หวัดนกเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเวลา 9 ปี (นับจากทำลายสัตว์ปีกรายสุดท้ายวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551)
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านพบการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีก และมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงต้องดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค โดยเน้นการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับในพื้นที่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนเลือกบริโภคสัตว์ปีก โดยยึดหลัก “เลือก หลีก ล้าง” 5 ประการ ดังนี้
1.เลือกบริโภคเนื้อไก่/เป็ด และไข่ที่ปรุงสุกสะอาด
2.หลีกเลี่ยงนำสัตว์ปีกที่ป่วย มีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง หรือป่วยตายมาประกอบเป็นอาหาร
3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย
4.หากไปตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ผู้บริโภคควร เลือกซื้อสัตว์ปีกจากร้านที่สะอาด ปลอดภัย และมีทะเบียนการค้าสัตว์ปีกมีชีวิตที่ออกโดยกรมปศุสัตว์
5.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสสัตว์และสิ่งคัดหลั่งของสัตว์
ประชาชนสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค (http://beid.ddc.moph.go.th) หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่ในการควบคุมโรคสัตว์และกำกับดูแลควบคุมการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย ที่ผ่านมาได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตรวจประเมินสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ และเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์เพื่อตรวจหาจุลินทรีย์ก่อโรค ยาปฏิชีวนะตกค้าง และสารเร่งเนื้อแดง โดยมีตัวอย่างที่เก็บจากทั่วประเทศ 723 ตัวอย่าง เพื่อส่งตรวจห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ หากผู้ประกอบการรายใดทำผิดข้อกฎหมาย ก็จะดำเนินการตักเตือน ให้คำแนะนำ จนถึงดำเนินการทางกฎหมายทันที เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการบริโภคอาหารในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ในโอกาสเทศกาลตรุษจีนปีนี้ กรมปศุสัตว์ขอให้ประชาชนที่จับจ่ายเลือกซื้อ เนื้อหมู เป็ด ไก่ เป็นส่วนประกอบในพิธีไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษ เลือกซื้อสินค้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การดูแลรับรอง โดยจุดสังเกตในการเลือกซื้อ คือ เลือกซื้อเนื้อสัตว์อนามัยที่มีตราสัญลักษณ์ Q เพื่อจะได้มั่นใจว่า เนื้อสัตว์นั้นปลอดภัยต่อการบริโภค และเลือกผู้ประกอบการค้าสัตว์ปีกที่ได้มาตรฐานได้รับการรับรองโดยกรมปศุสัตว์ หรือมีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” นั่นเอง
ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนทุกปี โดยเฉพาะวันจ่าย ชาวไทยเชื้อสายจีนจะออกไปจับจ่ายซื้ออาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ มาเตรียมพร้อมไว้ กรมอนามัย จึงขอแนะนำวิธีปฏิบัติ 7 ข้อ ดังนี้
1.เลือกซื้อจากตลาดที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะ“ตลาดสด น่าซื้อ” ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 มีตลาดประเภทที่ 1 (ตลาดที่มีโครงสร้างอาคาร) 1,446 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน “ตลาดสด น่าซื้อ” 1,297 แห่ง (ร้อยละ 89.70) แยกเป็นระดับดี 1,013 แห่ง และระดับดีมาก 284 แห่ง โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลด้านสุขลักษณะของตลาด และเฝ้าระวังการปนเปื้อนของอาหารโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
2.เลือกซื้อผัก ผลไม้ ที่สะอาด ไม่มีคราบดินหรือคราบขาวของสารพิษกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อราตามใบ ซอกใบ หรือก้านผัก ไม่มีสีขาว หรือกลิ่นฉุนผิดปกติ โดยมีคำแนะนำวิธี “การล้าง” 3 วิธี คือ 1) ล้างด้วยน้ำไหล 2) ล้างด้วยน้ำส้มสายชู และ 3)ล้างด้วยผงฟูหรือเบกิ้งโซดา
3.ควรเลือกขนม สีไม่ฉูดฉาด มีสีกลิ่นรสปกติ บรรจุอยู่ในภาชนะบรรจุที่สะอาด และควรนำมานึ่งให้ร้อน หรือปรุงประกอบด้วยความร้อนก่อนบริโภค
4.อาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว ทั้งไก่ต้ม เป็ดต้ม หมูต้ม ก่อนนำมารับประทาน ควรนำมาปรุงให้สุกอีกครั้ง เนื่องจากปกติแล้วเป็ดไก่เหล่านั้นมักนิยมต้มแบบไม่ให้สุกมาก
5.ผู้ปรุงอาหารควรมีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี เช่น แต่งกายให้สะอาด ใส่ผ้ากันเปื้อน ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังปรุงอาหาร และไม่สูบบุหรี่ระหว่างปรุงอาหาร เป็นต้น
6.การปฏิบัติตนเมื่อรับประทานอาหารไหว้เจ้า ให้ยึดหลัก“กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
7.ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการตลาดสดทั่วประเทศ “ล้างตลาดตามหลักการสุขาภิบาล” ต้อนรับเทศกาลตรุษจีน เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก ไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่างๆ นอกจากนี้
กรมอนามัย ขอแนะนำว่า หากเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ให้เลือกบริโภคอาหารจากร้านหรือแผงจำหน่ายอาหารที่มีป้ายสัญลักษณ์ “Clean Food Good Test” เพื่อให้ได้อาหารที่สะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภค
ส่วนนายเมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังในกรุงเทพมหานครเป็นประจำอย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากเชื้อโรคที่อาจมากับสัตว์ปีก โดยมีสัตวแพทย์ลงพื้นที่ตรวจสอบและเฝ้าระวัง ในสถานประกอบการฆ่าและชำแหละสัตว์ปีกให้ถูกสุขลักษณะ มีการแบ่งพื้นที่ประกอบการเป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงพนักงานต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ ผ้าปิดปาก ผ้ากันเปื้อน ถุงมือ รองเท้าบู๊ท เพื่อป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดนกและเชื้อโรคต่างๆ และดำเนินการตรวจสุขลักษณะของสถานประกอบการที่จำหน่ายสัตว์ปีก ทั้งความสะอาดของสถานที่ อุปกรณ์ การวางสินค้าที่รอการจำหน่าย การจัดเก็บ ความสะอาดของรางระบายน้ำ และถังรองรับมูลฝอย รวมทั้งสุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้จำหน่ายสัตว์ปีก เพื่อให้ประชาชนเลือกซื้อเป็ด ไก่ ประกอบพิธีไหว้เจ้าและนำไปบริโภคในเทศกาลตรุษจีนนี้ มีความมั่นใจ กรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เขต และสำนักอนามัย เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังไข้หวัดนกและลงพื้นตรวจสถานที่จำหน่ายอาหารอย่างเข้มงวดมากขึ้น