บำรุงราษฎร์ ชูเทคโนโลยี FTRD รักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ต้องผ่าตัด

100
รศ. คลินิก นพ. ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์ และทีม ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

มะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเกือบ 10 ล้านราย โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมะเร็งชนิดที่วินิจฉัยบ่อยที่สุดเป็นอันดับสามของโลก โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 2 ล้านราย รองจากมะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด โดยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสูงเป็นอันดับสอง จำนวน 935,000 รายทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาตรวจวินิจฉัยใหม่พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 21,103 ราย และเสียชีวิตถึง 6,039 ราย

รศ. คลินิก นพ. ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์ แพทย์ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น มักไม่มีอาการ ส่วนใหญ่จะตรวจพบได้ด้วยการมาตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนอาการในระยะหลังๆ ที่พอสังเกตได้จะมีน้ำหนักลด ทางเดินลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการท้องบวม ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งในลำไส้ใหญ่ด้านขวา อุจจาระจะเป็นสีดำ แต่หากพบมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย อุจจาระก็จะเป็นสีแดง หรือมีภาวะซีด ซึ่งอาจจะพบจากการตรวจเลือดเพื่อสาเหตุอื่น

สิ่งที่ขอเน้นย้ำคือ กว่าร้อยละ 30-50 ของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบัน มีทางป้องกันและรักษาได้ ซึ่งรวมถึง ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงมาก โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเกิดขึ้นในลำไส้ จากนั้นมะเร็งจะกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และสุดท้ายจะแพร่กระจายไปยังปอดและ/หรือตับ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยขณะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังปอดและ/หรือตับ จะมีโอกาสรอดชีวิตในเวลา 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 14 แต่หากตรวจพบในต่อมน้ำเหลือง อัตราอยู่รอดจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72 ที่สำคัญหากมาตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็ได้ทราบตั้งแต่เนิ่นๆ โดยแพทย์จะได้ประเมินปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรม ซึ่งอาจตรวจพบภาวะก่อนเป็นมะเร็ง หรืออาจตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกที่มะเร็งยังอยู่ในลำไส้ใหญ่ และยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 90”

อุปกรณ์เทคโนโลยี FTRD

ล่าสุดโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำเทคโนโลยีใหม่ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น โดยไม่ต้องผ่าตัด และไม่ต้องเปิดหน้าท้องเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หรือเรียกว่า ‘Full-Thickness Resection Device หรือ FTRD’ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกๆ ที่มะเร็งยังอยู่ในลำไส้ใหญ่หรือมีขนาดไม่ถึง 3 เซนติเมตร ผ่านการส่องกล้องที่ยืดหยุ่น โค้งงอได้ ปลายกล้องติดอุปกรณ์ มีรูปร่างคล้ายหอยมือเสือที่ใช้คอนเซ็ปต์การทำงาน ‘ปิดก่อนตัด’ โดยแพทย์จะสามารถตัดก้อนเนื้อและปิดรอยตัดในลำไส้ใหญ่ได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้สามารถตัดชิ้นเนื้อมะเร็งได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะไม่มีแผลที่หน้าท้อง ลดการติดเชื้อและลดการเสียเลือดจากแผลที่ผ่าตัด เป็นการทำหัตถการผ่านทางทวารหนักคล้ายกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั่วไป ใช้เวลารักษาเร็วกว่าการผ่าตัด ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว นอนพักที่โรงพยาบาล 1 คืน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาการแทรกซ้อนได้อีกด้วย

ปัจจุบัน บำรุงราษฎร์จะมีการประชุม Multidisciplinary Tumor Board ทุกสัปดาห์ เพื่อปรึกษาและกำหนดแนวทางการรักษาร่วมกัน ประกอบด้วยอายุรแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ศัลยแพทย์ด้านโรคมะเร็ง แพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง พยาธิแพทย์ รังสีแพทย์ซึ่งรวมถึงรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา แพทย์เวชพันธุศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านมะเร็งระดับโมเลกุล พยาบาลวิชาชีพ และเภสัชกร รวมกว่า 30-50 ท่าน เพื่อมุ่งให้การดูแลรักษาให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

รศ. คลินิก นพ. ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์ กล่าวปิดท้ายว่า “ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็ง ตั้งแต่การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟู ทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยรอดชีวิตจากโรคมะเร็งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอแนะนำให้มาตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีสำหรับการตรวจค้นหามะเร็งกระเพาะอาหารระยะต้น และ 45 ปีสำหรับการตรวจค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต้น ทั้งนี้การเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมนั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งต้องพิจารณาระยะของโรคและปัจจัยอื่นร่วมด้วย โดยแพทย์พร้อมให้คำแนะนำและอธิบายถึงข้อดีและข้อจำกัดในการรักษาด้วยวิธีต่างๆ แก่ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย”