สสส.-สคอ.-ภาคีเครือข่าย ถก “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ปีใหม่ 2565

26

สสส.-สคอ.-ภาคีเครือข่าย ถก “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ปีใหม่ 2565 หลังพบผลสำรวจเมาแล้วขับบาดเจ็บ-เสียชีวิตช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้น 17% และอาจกลายเป็นผู้พิการรายใหม่ 4.6% เตือนสติผู้ขับขี่-คนใกล้ตัว “รับไหวหรือ? หากเกิดอุบัติเหตุ แนะดื่มไม่ขับลดอุบัติเหตุ-ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ช่วงโควิด-19

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ปีใหม่ 2565 เพื่อสร้างกระแสรับรู้ มอบความห่วงใย และชี้ถึงผลกระทบความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล

ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ใกล้ช่วงเทศกาลเดินทางปีใหม่ 2565 ประชาชนเตรียมแผนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา ซึ่งกิจกรรมในวันนี้เป็นโอกาสในการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนได้ท่องเที่ยว ฉลองปีใหม่อย่างปลอดภัยและมีความสุข สสส.และภาคีเครือข่ายสร้างความปลอดภัยทางถนน ให้ความสำคัญกับงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน

ขับเคลื่อนงานโดยเน้น 1.ลดพฤติกรรมเสี่ยง ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จากการใช้ความเร็วเกินกำหนด การดื่มไม่ขับ และการไม่สวมหมวกนิรภัย และ 2.สร้างสภาพสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย สร้างมาตรการในระดับพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น ในการลดอุบัติเหตุทางถนน

ก่องกาญจน์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากระบบแฟ้มสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 พบผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน 799,009 คน เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 227,194 คน ในจำนวนนี้อาจกลายเป็นผู้พิการถึง 10,450 คน ซึ่งคำนวณจากผลการศึกษาอุบัติเหตุของสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ที่พบว่า 4.6% ของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จะกลายเป็นผู้พิการรายใหม่

เทศกาลปีใหม่ 2565 นี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จึงสื่อสารรณรงค์ผ่านแคมเปญ “รับไหว” เพื่อเตือนสติทั้งผู้ขับขี่ให้ได้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งอาจส่งผลไปยังครอบครัวของตนเองรวมทั้งครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย และกระตุ้นให้ “กลุ่มผู้ใกล้ตัวของผู้ดื่ม” ช่วยกันเตือนสติผู้ที่กำลังดื่มแล้วบอกว่าตนเอง “ขับไหว” ด้วยคำง่ายๆ ว่า “รับไหวหรือ ? สสส. ขอชวนช่วยกันลดตัวเลข ลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่วันนี้ หมั่นคอยเตือนสติทั้งตัวเองและคนรอบข้างไว้เสมอว่า “รับไม่ไหว..อย่าบอกขับไหว ” ถ้าดื่ม..ต้องไม่ขับ เพื่อให้ทุกคนได้ฉลองในเทศกาลปีใหม่นี้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่ 2564 ตรวจพบมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 มากถึง 17% โดยในปี 2564 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 5,387 ราย มากกว่าปี 2563 ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 4,415 ราย ขณะที่ ข้อมูลระหว่างปี 2550-2564 คนไทยมีพฤติกรรมดื่มประจำถึง 44% ในจำนวนนี้ กว่า 1 ใน 3 หรือ 36% ดื่มหนัก และมีพฤติกรรมการดื่มแล้วขับสูงถึง 31% อายุเฉลี่ยดื่มครั้งแรก 20 ปี

ดังนั้น มาตรการเฝ้าระวังป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่ 2565 นี้ ทุกฝ่ายควรดำเนินการตามนโยบายความปลอดภัยทางถนนของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน คือ 1.ช่วงเตรียมการ ควรสำรวจจุดเสี่ยง ปรับปรุงแก้ไขซ่อมแซมถนนก่อนเทศกาลปีใหม่ เตรียมความพร้อมผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครองเฝ้าระวังในพื้นที่ 2.ช่วงเทศกาล ขอให้เพิ่มการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การตั้งด่านตรวจ จุดคัดกรอง ด่านชุมชน เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง สกัดกั้นคนเมาไม่ให้ออกถนน และ 3.ช่วงเดินทางกลับ เน้นการจัดจุดพักรถให้บริการผู้ขับขี่ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ลดการหลับใน

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันยังคงเป็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ที่เข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่ายยากต่อการควบคุม ทำให้มีนักดื่มหน้าใหม่ที่อายุน้อยลง ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้าน มีเวลาว่างก็มีการดื่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดจากการตั้งวงดื่มเหล้า ผลเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะเสียสุขภาพแล้ว ยังทำลายภูมิต้านทาน ลดประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 เพิ่มการกระจายเชื้อ ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่า เกิดคลัสเตอร์จากวงเหล้าจำนวนมาก ทางที่ดีที่สุดคือ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและยังช่วยลดค่าใช้จ่าย

นพ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.สระบุรี และผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองแค จ.สระบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง เพราะเป็นเส้นทางสัญจรผ่านไปภูมิภาคอื่น กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 มีมาตรการล๊อกดาวน์ทำให้อุบัติเหตุในพื้นที่ลดลง แต่หลังจากการคลายมาตรการ ปัญหาอุบัติเหตุก็เริ่มกลับมา ส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากการขับเร็วและการดื่มเหล้า ซึ่งการดื่มแล้วขับเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะต้องตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เพิ่มภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องมาดูแลในส่วนนี้เพิ่มขึ้นและไม่เพียงพอต่อการทำงานในส่วนอื่น

ซึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่นี้จึงได้เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อรองรับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การจัดเวรปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในช่วง 7 วันอันตราย ตลอดจนการดูแลกรณีคนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เข้ามารักษาช่วงโควิด-19 สำรองเตียงแยกเฉพาะเมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด การตัดสินใจไม่ดื่มหรือดื่มไม่ขับจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียได้ และเป็นการช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้อีกด้วย