ดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

29

เมื่อได้รับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี บางคนมีความกังวลว่าสามารถดำเนินชีวิตปกติได้หรือไม่ น้ำดีเพียงพอที่จะย่อยอาหารไหม และหลังการรักษาควรดูแลตัวเองเช่นไร แน่นอนว่าการใช้ชีวิตหลังจากนี้จะเปลี่ยนไป การปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

นพ. ชนินทร์ ปั้นดี ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะใช้ โปรแกรมฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัดนิ่วที่ช่วยเร่งให้การผ่าตัดฟื้นตัวเร็วขึ้น หรือเรียกว่า ERAS (Enhanced Recovery After Surgery) คือ แนวทางการดูแลรักษาตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังผ่าตัดรักษาและส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด จะถูกปรับให้เข้ากับผู้ป่วยแต่ละราย โดยการลดภาวะเครียดจากการผ่าตัด จัดการความปวดอย่างเหมาะสม การรับประทานอาหารและเคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่มแรกช่วยลดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาลดลง โดยทีมแพทย์สาขาต่าง ๆ พยาบาล เภสัชกร ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักโภชนาการ รวมถึงตัวผู้ป่วยเองมาร่วมกันเป็นทีม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษา

กระบวนการนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เริ่มตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และตรวจพิเศษเพิ่มเติมในรายที่จำเป็น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดอย่างครบถ้วนโดยทีมศัลยแพทย์และพยาบาล ระหว่างผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีต้องมีการวางแผนการผ่าตัด เคสส่วนมากสามารถส่องกล้องผ่าตัดผ่านแผลเล็กเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว เสียเลือดน้อย เช่น การใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดความคมชัดสูงแบบ 4K หรือการฉีดสี Indocyanine Green (ICG) เพื่อดูตำแหน่งท่อน้ำดีหลัก หลีกเลี่ยงโอกาสบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง หลังผ่าตัดต้องจัดการความปวดอย่างดี สามารถรับประทานอาหารได้ตั้งแต่ระยะแรก

การเคลื่อนตัวของลำไส้ที่เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัว รับประทานอาหาร และกลับบ้านได้เร็วขึ้น นักโภชนาการจะดูแลและตอบคำถามอย่างใกล้ชิด การเคลื่อนไหวร่างกายล่าช้าหลังผ่าตัดจะเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำและภาวะแทรกซ้อนทางระบบการหายใจ ดังนั้นทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะช่วยกระตุ้น และแนะนำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวที่ข้างเตียงผู้ป่วยตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด จนเมื่อกลับบ้านพยาบาลจะทำการนัดพบแพทย์และให้ช่องทางติดต่อในกรณีฉุกเฉิน เภสัชกรจะทบทวนและแนะนำยาที่ได้รับกลับบ้านทั้งหมดอีกครั้ง

หลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วจำเป็นจะต้องดูแลตัวเองให้ถูกวิธี เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติได้ เพราะตับสามารถสร้างน้ำดีเพียงพอที่จะย่อยอาหาร ผู้ป่วยควรเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมตามปกติโดยเร็วที่สุดเพื่อปรับปรุงการไหลเวียนโลหิตและป้องกันลิ่มเลือด สังเกตภาวะแทรกซ้อนที่บริเวณแผล หากมีอาการปวด บวม หรืออักเสบ หรือมีอาการผิดปกติเช่น ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้หรืออาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง ไม่ถ่ายอุจจาระหลังผายลมนานเกิน 3 วันหลังการผ่าตัด มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรปรึกษาแพทย์ทันที

เมื่อกลับจากโรงพยาบาล สิ่งสำคัญคือต้องเคลื่อนไหวบ่อย ๆ การนอนนิ่ง ๆ ไม่ขยับขานาน ๆ อาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่ปกติจะเกิดอันตรายได้ ลิ่มเลือดอาจวิ่งไปยังหัวใจแล้วอุดตันเส้นเลือดที่ปอด ควรฝึกกระดกข้อเท้า หมุนข้อเท้า ยกเข่า ทุก ๆ ชั่วโมงเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดดำบริเวณน่อง หากได้รับอุปกรณ์ฝึกหายใจจากโรงพยาบาลควรใช้ตามคำแนะนำเป็นเวลา 3 – 5 วัน ฝึกหายใจลึก ๆ 4 – 5 ครั้งต่อชั่วโมงเพื่อช่วยให้ปอดขยายตัวได้ดี

ควรฝึกลุกขึ้นจากเตียงอย่างถูกวิธี เพราะการลุกจากเตียงแบบรวดเร็วอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน เกิดวิงเวียนล้มลงได้ ควรค่อย ๆ พลิกตัว นอนตะแคง งอเข่า ต่อด้วยใช้มือทั้งสองข้างยันตัวให้ลุกขึ้น ยกขาทั้งสองห้อยลงข้างเตียง จากนั้นยันตัวลุกขึ้น นั่งตรง แล้วยืนขึ้น โดยในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมาก สามารถเดินระยะทางสั้น ๆ อย่าขับรถอย่างน้อย 5 – 7 วันหลังการผ่าตัด หลัง 2 สัปดาห์อาจเริ่มขี่จักรยาน วิ่งเบา ๆ เพื่อออกกำลังกายได้ ห้ามยกของหนัก หลังผ่าตัดได้ 1 เดือนจึงสามารถออกกำลังกายได้ปกติ รวมถึงการยกของหนัก เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ ตัดหญ้า โดยค่อย ๆ เริ่ม อย่าหักโหมเกินไป ควรงดสูบบุหรี่ เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง

การปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะเมื่อร่างกายไม่มีถุงน้ำดีแล้ว น้ำดีที่มาจากตับจะค่อย ๆ ไหลเข้าสู่ลำไส้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลคล้ายยาระบาย ปริมาณไขมันที่กินต่อมื้อจึงมีผลมาก ถ้าปริมาณไขมันน้อยกว่าจะย่อยได้ง่ายกว่า ในขณะที่ปริมาณมากอาจยังไม่ย่อยและทำให้เกิดแก๊ส ท้องอืด และท้องร่วง โดยเฉพาะช่วงเดือนแรก ๆ หลังการผ่าตัด จึงควรพยายามรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ เคล็ดลับการกินหลังผ่าตัดถุงน้ำดี ช่วงสัปดาห์แรกควรทานอาหารย่อยง่าย หลังจากนั้นเริ่มกินอาหารได้ตามปกติ ควรทานอาหารที่มีคุณภาพมื้อเล็กและบ่อยขึ้น แบ่งทานวันละ 4 – 6 มื้อ เพิ่มจำนวนมื้อ แต่ลดปริมาณในแต่ละมื้อลง ช่วยให้ย่อยอาหารได้สมบูรณ์ เพราะมีน้ำดีปริมาณจำกัด หลีกเลี่ยงอาหารมื้อดึก เพราะอาจทำให้จุกแน่นได้

อาหารควรมีโปรตีนคุณภาพดี เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ควบคู่ไปกับผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟและชา อาหารที่มีรสเผ็ดมาก ๆ ลดอาหารไขมันสูงช่วยเลี่ยงอาการท้องอืดท้องเสีย เลือกกินไขมันที่ดี เช่น ไขมันจากปลา ปรุงอาหารด้วยน้ำมันพืชที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว หลีกเลี่ยงไขมันปริมาณมาก เพิ่มการรับประทานอาหารเส้นใยสูงที่ผลิตก๊าซอย่างช้า ๆ ในช่วงหลายสัปดาห์ จะช่วยให้การเคลื่อนไหวของลำไส้เป็นปกติ หลังการผ่าตัดควรบันทึกสิ่งที่กินและผลกระทบ จะทำให้รู้ว่าสามารถกินอะไรได้และกินไม่ได้ หลายคนสามารถกลับไปรับประทานอาหารตามปกติได้ภายใน 1 เดือนหลังการผ่าตัด

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่ออกกำลังกายประจำอาจต้องใช้โปรแกรมหรืออุปกรณ์ในการฟื้นฟูทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ควรรับคำปรึกษาจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูความแข็งแรงอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอโดยเฉพาะ 1 – 2 สัปดาห์แรก นอนวันละ 8 – 10 ชั่วโมง การนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุดและจำเป็นต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงการนอนดึกและการดื่มน้ำมาก ๆ ก่อนนอน