สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เปิดตัว“คู่มือกู้ชีพองค์รวม” เล่มแรกในประเทศไทย หวังอาสาสมัครกู้ชีพ-ประชาชนทั่วไปเข้าใจง่าย เกิดความรู้ ปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เชื่อมต่อกระบวนการช่วยชีวิตให้มีประสิทธิภาพ
สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดการอบรมหลักสูตรการกู้ชีพองค์รวม หรือ CLS โดยมี ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เปินประธานในพิธีเปิดการอบรม และมีอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป กว่า 40 คนเข้าร่วมการอบรม ที่ตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี
ศ.นพ.สันต์ กล่าวว่า ในการอบรมครั้งนี้ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯได้จัดทำคู่มือ “กู้ชีพองค์รวม(CLS) สำหรับอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป” ขึ้นมา ซึ่งได้ใช้เวลาในการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านการกู้ชีพฉุกเฉินมานานกว่า10 ปีโดยพัฒนาขึ้นมาใช้กับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพ ก่อนที่จะพัฒนามาทำในระดับอาสาสมัครและประชาชนเพื่อให้ผู้ที่อยู่ใกล้เหตุการณ์ที่สุดสามารถช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะคุกคามชีวิตให้รอดพ้นภาวะวิกฤตได้ ก่อนที่หน่วยกู้ชีพจะเดินทางไปถึงและดูแลรักษาต่อ
การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะคุกคามชีวิตนั้น หากมีความล่าช้าหรือให้การดูแลรักษา ที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการโดยไม่สมควร ในทางตรงกันข้าม หากผู้ช่วยเหลือที่อยู่ใกล้เคียง สามารถตรวจพบภาวะฉุกเฉินที่คุกคามต่อชีวิตได้รวดเร็ว และสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมตามระดับความสามารถ และมีวิธีการช่วยเหลือที่ต่อเนื่องไปจนกระทั่งผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยนั้นมีโอกาสรอดชีวิตและลดความพิการได้สูง
ศ.นพ.สันต์ กล่าวว่า คู่มือ “การกู้ชีพองค์รวมสำหรับอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป” เป็นชุดความรู้และปฏิบัติการให้ความรู้และความสามารถตรวจพบ การวิเคราะห์ และการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างชัดเจน ด้วยเพียง5ขั้นตอน มีวิธีปฏิบัติที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายเพื่อช่วยชีวิต และมีรูปภาพประกอบที่เข้าใจได้ง่าย
“จากการอบรมครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากอาสาสมัครและประชาชนว่า มีความสามารถและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นว่า สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง และควรจัดให้มีการอบรมในลักษณะนี้เพื่อขยายผลไปสู่อาสาสมัครและประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้นจะเป็นการเชื่อมต่อให้ลูกโซ่ของกระบวนการช่วยชีวิตเชื่อมต่อกัน ในทางตรงกันข้ามเมื่อตรวจไม่พบภาวะฉุกเฉินคุกคามต่อชีวิตก็สามารถให้การช่วยเหลือตามแนวทาง “การปฐมพยาบาล” ได้ตามปกติ” ศ.นพ.สันต์ กล่าว
ด้าน นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การอบรมและจัดทำคู่มือดังกล่าวขึ้นมา ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯมีเป้าหมายที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในภาวะคุกคามชีวิตเป็นหลัก โดยปกติแล้วคนธรรมดาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าผู้ป่วยแบบใดที่อยู่ในภาวะคุกคามต่อชีวิต หากอาสาสมัครหรือประชาชนสามารถปฏิบัติได้ตาม5ขั้นตอนตามคู่มือได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดอัตราพิการลงได้เป็นอันมาก และเป็นการช่วยต่อเติมส่วนที่ขาดในระบบการกู้ชีพฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“คู่มือกู้ชีพองค์รวมนี้ถือเป็นคู่มือเล่มแรกของไทยที่มีการจัดวิธีการช่วยเหลือตั้งแต่ การตรวจหา การพิจารณา การปฏิบัติ และการส่งต่อ เป็นการดึงเอาศักยภาพของอาสาสมัครและประชาชนเข้ามาเสริมต่อในระบบการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยในภาวะคุกคามชีวิต ได้ทันการณ์และมีประสิทธิภาพ แต่เดิมมา เรามีวิธีปฐมพยาบาลซึ่งไม่ได้ช่วยให้ผู้ช่วยเหลือแยกแยะภาวะคุกคามชีวิตออกมาช่วยก่อนอาจทำให้ผู้ช่วยเหลือช่วยในส่วนที่ไม่วิกฤตก่อนและละเลยส่วนที่วิกฤต อัยจะทำให้การช่วยนั้นเสียเปล่าและโอกาสรอดของผู้เจ็บป่วยลดหรือหายไปได้ แนวคิดในการให้อาสาสมัคร “ตรวจหา” ภาวะคุกคามต่อชีวิตนี้ไม่ปรากฏในคู่มือปฐมพยาบาลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ
นพ.สมชาย กล่าวว่า สำหรับการอบรมในครั้งนี้ เป็นการจัดแนวทางปฏิบัติให้อาสาสมัครสามารถ “ตรวจหา”ภาวะคุกคามชีวิตได้ด้วยการตรวจแบบง่ายๆ ใช้เวลาที่สั้นมาก และสามารถแก้ไขภาวะวิกฤตของผู้ป่วยที่จัดลำดับให้ง่ายเพียง 5 ขั้นตอน จะทำอาสาสมัครมีความมั่นใจ และมีความรู้ความสามารถที่ติดตัวไปนาน
อย่างไรก็ตาม คู่มือกู้ชีพองค์รวมในเบื้องต้นจะแจกให้กับอาสาสมัครและประชาชนที่เข้าฝึกอบรมเพียงจำนวน 1,000 เล่ม และจะมีการเปิดอบรมให้กับภาคประชาชนต่อไป สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด “คู่มือกู้ชีพองค์รวมสำหรับอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป”สามารถใช้ดูและพกพาในโทรศัพท์มือถือและแทบเบล็ท ได้ที่เพจของสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือที่
https://drive.google.com/open?id=1BO8FSO5mOTPZ32qto4sEs9QW-1nWzO4s