‘โรคมะเร็ง’ กับข้อสงสัยป้องกันได้จริงหรือไม่

21

 ‘มะเร็ง’ เป็นอีกหนึ่งโรคที่ซับซ้อนในแง่การรักษา และผลกระทบที่เกิดจากการป่วยเป็นโรคมะเร็ง นอกจากจะเกิดกับตัวผู้ป่วยเอง ยังส่งผลต่อสมาชิกในครอบครัว และบุคคลรอบตัวของผู้ป่วยด้วย ส่วนประเด็นข้อสงสัยที่ว่าโรคมะเร็งสามารถที่จะป้องกันได้จริงหรือ

พญ. วีรนุช รัตนเดช แพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรแพทย์โรคมะเร็ง โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ กล่าวว่า มะเร็งบางชนิดสามารถป้องกันทั้งได้ และบางชนิดไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนจึงไม่อาจป้องกันได้ ทั้งนี้โรคมะเร็งเกิดได้กับทุกอวัยวะและทุกเซลล์ของร่างกาย มักพบบ่อย ปอด ตับ ลำไส้ และเต้านม แต่ยังมีมะเร็งอีกเป็นพันชนิดเลยก็ว่าได้ที่เราไม่เคยได้ยิน เนื่องจากเป็นมะเร็งที่ไม่ได้พบบ่อย

เนื่องจากในปัจจุบันเรายังไม่ได้ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งบางชนิด เราทราบเพียงว่าปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง เราจึงมักใช้คำว่า “ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็ง” มากกว่าคำว่า “สาเหตุของมะเร็ง” เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายังมีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งชนิดนั้นๆอยู่ เราก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็งชนิดนั้น ๆ ได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงโดยทั่วไป ของการเกิดโรคมะเร็งในปัจจุบัน คือ 1. อายุที่มากขึ้น/ เชื้อชาติ  2. ประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว 3. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4. สูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสอง 5. ติดเชื้อไวรัสบางชนิด
6. รังสีอุลตร้าไวโอเลต (UV) และ 7. ความอ้วน

การลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งแต่ละชนิด อาจแตกต่างกันออกไป โดยเราสามารถเริ่มต้นลดความเสี่ยงจากการป่วยเป็นโรคมะเร็ง โดยการปรับเปลี่ยน และระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้  1. งด หรือลด การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์  2. ทานอาหารที่มีประโยชน์ 3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4. รับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งบางชนิด 5. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
6. ทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงการอยู่ในที่แดดจัด และ7. หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการตรวจคัดกรองตามอายุ และความเสี่ยง

การตรวจคัดกรองมะเร็ง (Cancer Screening) ถือเป็นการตรวจคัดกรองโรคในระยะที่ยังไม่แสดงอาการ โดยหากตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้น จะสามารถทำการรักษาได้ผลมากขึ้น หรือมีโอกาสหายขาดมากขึ้น โดยเราควรตรวจคัดกรองมะเร็ง หากมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมากกว่าบุคคลทั่วไป และเมื่ออายุถึงเกณฑ์ตรวจคัดกรอง*

โดยการตรวจคัดกรองตามอายุ ในกรณีที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดเป็นพิเศษ สำหรับเพศชาย อายุ 45 ปี ขึ้นไป คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ อายุ 55 ปี ขึ้นไป คัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนเพศหญิง อายุ 21 ปี ขึ้นไป (หรือมีประวัติมีเพศสัมพันธ์) คัดกรองมะเร็งปากมดลูก อายุ 40 ปี ขึ้นไป คัดกรองมะเร็งเต้านม อายุ 45 ปี ขึ้นไป คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ *ข้อมูลดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นกับงานวิจัยปัจจุบัน

พญ. วีรนุช ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง เช่น คลำเจอก้อนที่บริเวณใดก็ตามของร่างกาย ไอเรื้อรัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ กลืนอาหารลำบาก ถ่ายเป็นเลือด หรือมีอาการผิดปกติอื่นที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยเร็วที่สุด