นายก ส.กุ้งไทย เผยเจ้ากระทรวงเกษตรตอบรับ ผลิตกุ้งให้ได้ปีละ 400,000 ตัน ภายใน 2 ปี พร้อมทวงคืน 500,000 ล้านบาท ที่เสียหาย/เสียโอกาสไป พลิกฟื้นอุตฯกุ้ง กลับมาเป็นสินค้าสำคัญ-พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งของอุตสาหกรรมกุ้งไทย ที่ ฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เล็งเห็นความสำคัญของสินค้ากุ้ง รับปาก ยืนยันช่วยผลักดันเต็มที่เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตกุ้งให้ได้ปีละ 400,000 ตันภายใน 2 ปี สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ที่สำคัญพร้อมทวงคืน 500,000 ล้านบาท ที่เสียหาย/เสียโอกาสไปอันเนื่องจากการระบาดของโรค พลิกฟื้นอุตกุ้งฯ ให้กลับมาเป็นสินค้าสำคัญของประเทศ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยที่ผ่านมา ปี 2553 เคยผลิตได้สูงสุดถึง 640,000 ตัน เป็นผู้นำการผลิตและส่งออกกุ้งของโลก ทำรายได้เข้าประเทศจากส่งออกเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันผลิตได้เพียง 280,000 ตัน มูลค่าส่งออก-(ตัวเลข ม.ค.-พ.ย. 2564) อยู่ที่ 43,000 ล้านบาท
“การเข้าพบพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ของตัวแทนห่วงโซ่อุปทาน ตลอดสายการผลิตสัตว์น้ำอย่างพร้อมเพรียง นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของอุตฯ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ ท่านรัฐมนตรีว่าการฯ เปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอต่างๆ จากตัวแทนทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ และยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามข้อเสนอ และมอบหมายให้กรมประมงเร่งดำเนินการ รวมถึงประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกุ้ง การที่ท่านได้รับปากเข้มแข็ง พร้อมปฏิบัติการเชิงรุก และสนับสนุนความพร้อมแก่เกษตรกร และรูปแบบการเลี้ยงกำจัดโรคกุ้งให้หมดไปอย่างชัดเจน ฯลฯ เพื่อให้ไทยกลับมาเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกกุ้งอีกครั้ง ทำให้ชาวกุ้งยิ้มได้ เห็นความหวัง เชื่อมั่นว่าทำได้อย่างแน่นอน” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว
ขณะที่ ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ยืนยันว่ากำลังการผลิตของโรงงานห้องเย็นแปรรูปกุ้ง ปัจจุบันที่เหลือดำเนินการอยู่ประมาณ 20 แห่ง รวมกับโรงงานฯ ที่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะผลิตกุ้งได้อีก 15-30 แห่ง (ที่ตอนนี้หยุดไป) พร้อมรับกุ้งเพื่อแปรรูปส่งออก ได้ถึง 400,000 ตัน คุณภาพกุ้งไทย ยังคงเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ผู้แปรรูปส่งออกไม่สามารถรับออเดอร์ได้เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีกุ้ง ทำให้เสียโอกาสไปเพราะมีผลผลิตไม่เพียงพอ จึงควรเร่งผลักดันให้กลับมาผลิตให้ได้