CEA ผนึกกำลัง ททท. และ ทีเส็บ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการส่งเสริมเทศกาลความคิดสร้างสรรค์และกิจกรรมย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยท่ามกลางโควิด-19 เสริมความแข็งแกร่งด้วยชุมชนสร้างสรรค์ ปั้นเมืองแห่งเทศกาลระดับสากล ยกระดับประเทศไทยสู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืนในระยะยาวตามนโยบายรัฐบาล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) : CEA ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย : ททท. และ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) : ทีเส็บ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน “โครงการส่งเสริมเทศกาลความคิดสร้างสรรค์และกิจกรรมย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพื่อร่วมกันยกระดับขีดความสามารถการจัดเทศกาลความคิดสร้างสรรค์ขนาดใหญ่ไปสู่ระดับมาตรฐานสากล สามารถดึงดูดนักสร้างสรรค์และนักท่องเที่ยวจากในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนการจัดกิจกรรมความคิดสร้างสรรค์รูปแบบต่าง ๆ ของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือเมืองสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้มีความโดดเด่น เพิ่มปริมาณการค้าและการท่องเที่ยวบนพื้นฐานการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่พัฒนาต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง โดยมีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) อาคารไปรษณีย์กลาง กรุงเทพฯ
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พลัง Soft Power และความคิดสร้างสรรค์ จะเป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ CEA ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนในระยะยาวตามนโยบายรัฐบาล ร่วมกับ ททท.และทีเส็บ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมเทศกาลความคิดสร้างสรรค์และกิจกรรมย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพื่อผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.45 ล้านล้านบาท ในปี 2564 และ ในปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.57%
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ อยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานร่วมกัน 4 ข้อ คือ
- สนับสนุนการจัดเทศกาลงานออกแบบ (Design Week) หรือเทศกาลความคิดสร้างสรรค์ (Creative Festival)
- สนับสนุนการจัดกิจกรรมความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ บนพื้นฐานการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
3.สนับสนุนการพัฒนาหรือการจัดหาช่องทางและเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เทศกาลหรือกิจกรรมความคิดสร้างสรรค์
- สนับสนุนการประสานงานองค์กรภาคีเครือข่าย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งด้านการจัดกิจกรรม ด้านการเดินทางและที่พักและด้านกฎระเบียบและมาตรการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเทศกาลความคิดสร้างสรรค์ที่มีชีวิตชีวาและเป็นที่น่าสนใจ
สำหรับ “โครงการส่งเสริมเทศกาลความคิดสร้างสรรค์และกิจกรรมย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ได้ดำเนินการผ่านการจัดกิจกรรม “เทศกาลงานออกแบบ” (Design Week) หรือ เทศกาลความคิดสร้างสรรค์ (Design Festival) ซึ่งถูกจัดขึ้นตามเมืองใหญ่กว่า 150 เมืองทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย CEA ได้กำหนดจัดขึ้นครอบคลุมทั้ง 3 ภูมิภาค ได้แก่ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Design Week, งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ หรือ Isan Creative Festival ณ จังหวัดขอนแก่น และเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศ พัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อยกระดับให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการออกแบบ อีกทั้ง ยังเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้จริง
โดยในระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 CEA ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และกลุ่มนักออกแบบ ได้จัดงาน “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” ภายใต้แนวคิด “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ด้วยการเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์และผู้มีความรู้ในสาขาต่าง ๆ ได้มาร่วมคิด ร่วมทดลอง ไอเดียการอยู่ร่วมกับโควิด-19 และร่วมค้นหาโอกาสในการต่อยอดไปสู่การยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น กับ 200 โปรแกรม ในพื้นที่ 5 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย ย่านสามย่าน ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ย่านทองหล่อ-เอกมัย และย่านพระนคร
“เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” ถือเป็นเทศกาลสำคัญของเมืองไทยที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2561 ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างเทศกาลฯ จำนวน 750 ล้านบาท มีผู้เข้าชมเทศกาลฯ กว่า 1.13 ล้านคน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2565 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานตามแนวคิด“DASH” เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้แก่
D- Domestic Travel การส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ
A- Accelerate Demand การกระตุ้นอุปสงค์
S – Shape Supply การสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีบนพื้นฐานความปลอดภัย ผ่านการส่งมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจ สร้างความสมดุลทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
และ H – Healing the Economy ฟื้นประเทศด้วยการท่องเที่ยว
อีกทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังวางรากฐานการดำเนินงานให้ไปสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ มุ่งเน้นคุณค่าและความยั่งยืนพร้อมทั้งกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชน สร้างความสมดุลระหว่างแหล่งท่องเที่ยว และความต้องการของนักท่องเที่ยว ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพและอำนวยความสะดวกในการเดินทางพร้อมพัฒนาขีดความสามารถให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและเติบโตอย่างเข้มแข็ง พร้อมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
ความร่วมมือในครั้งนี้ จะส่งเสริมให้เกิดกิจกรรม เทศกาล อีเว้นต์ ที่สนับสนุนการใช้ทรัพยากรของแต่ละท้องถิ่น หรือทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผลักดัน Soft Power ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าขาย และการท่องเที่ยวบนพื้นฐานการพัฒนาในย่านต่าง ๆ ถือเป็นแนวทางที่เกิดประโยชน์กับประเทศในวงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีคุณภาพอย่างยั่งยืน
ด้าน นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า พันธกิจสำคัญของทีเส็บ คือ การส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างความเจริญ และกระจายรายได้ไปสู่ทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางทางธุรกิจชั้นนำของเอเชีย การผนึกกำลังของ 3 ทั้งหน่วยงาน นับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจด้วย Soft Power ของประเทศไทย
การลงนามความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน “โครงการส่งเสริมเทศกาลความคิดสร้างสรรค์และกิจกรรมย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ และเศรษฐกิจด้วย “งานเทศกาล” หรือ “Festival Economy” โดยได้กำหนดเป้าหมายระยะยาวในการสร้าง “หนึ่งเมือง หนึ่งงานเทศกาลนานาชาติ” ภายใน 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่า ยกระดับ และส่งออกงานเทศกาลที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
โดย Festival Economy จะเป็นเครื่องมือดึงดูดกลุ่มนักเดินทางคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่หลงใหลในวัฒนธรรมต่างถิ่นและชอบแสวงหาประสบการณ์รูปแบบใหม่ ให้เดินทางเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองและชุมชนผ่านการจัดงานเทศกาลได้ อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ กระจายรายได้ กระจายความเจริญ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพของเมือง พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรภายในพื้นที่ ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนและเมือง ในการนำวัฒนธรรมหรือหาอัตลักษณ์ของเมืองมาแสดงให้โลกรู้จักมากขึ้น รวมถึงคนในชุมชนต้องร่วมด้วยช่วยกัน ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เพื่อร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศ