ลอรีอัล กรุ๊ป ได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนีความเท่าเทียมทางเพศของบลูมเบิร์กเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันในปี 2565 จากความสำเร็จในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ครอบคลุมและมีความเท่าเทียมกันของบริษัท
โดยดัชนีนี้ได้ประเมินความเท่าเทียมทางเพศจากเกณฑ์ 5 ข้อ ได้แก่ ตำแหน่งผู้นำของผู้หญิง และแผนการพัฒนาบุคลากรที่เป็นผู้หญิงขึ้นสู่ระดับผู้นำ, ความเสมอภาคของค่าตอบแทนและเพศที่เท่าเทียมกัน, วัฒนธรรมที่ยอมรับในความแตกต่าง และนโยบายต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งการทำงานของแบรนด์ที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้หญิง
ลอรีอัลเป็นหนึ่งในบริษัท 418 แห่งใน 45 ประเทศและภูมิภาคที่ติดอันดับดัชนีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender-Equality Index – GEI) ของบลูมเบิร์กประจำปี 2565 โดยมีเป้าหมายที่จะติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทมหาชนที่มีความมุ่งมั่นในเรื่องความโปร่งใสของการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับเพศ
ฌอง-คล็อด เลอ กรอง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ลอรีอัล กรุ๊ป กล่าวว่า “การติดอันดับดัชนีความเท่าเทียมทางเพศของบลูมเบิร์ก 5 ปีติดต่อกันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามที่ไม่ลดละของเรา รวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะสร้างศักยภาพให้แก่ทุกๆ เพศ เรารู้ว่าวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยบุคลากรที่มีความหลากหลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจ นวัตกรรม และแรงกระตุ้น นอกจากนี้ วัฒนธรรมที่งอกงามถือเป็นความได้เปรียบที่สำคัญในด้านการแข่งขัน”
พันธกิจด้านความเท่าเทียมทางเพศของ ลอรีอัล กรุ๊ป นั้นมีหลายรูปแบบ นับตั้งแต่การประเมินส่วนต่างของค่าตอบแทนและเพศมาตั้งแต่ปี 2550 ไปจนถึงการจัดอบรมพิเศษให้แก่ผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุนแบบเบ็ดเสร็จแก่ครอบครัวต่าง ๆ ตามนโยบายแบ่งปันและดูแลของบริษัท รวมทั้งพันธกิจต่อต้านความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น
ลอรีอัลได้จัดส่งผลสำรวจทางสังคมที่จัดทำโดยบลูมเบิร์กภายใต้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนี้ไปทั่วโลก บริษัทที่ติดอันดับดัชนีของปีนี้ได้คะแนนเทียบเท่าระดับเกณฑ์หรือสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลกซึ่งกำหนดโดยบลูมเบิร์ก โดยผลสำรวจและดัชนี GEI เป็นการจัดทำโดยสมัครใจ และไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้อง
สำหรับในประเทศไทย ลอรีอัล มีความโดดเด่นในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลาย โดยปัจจุบันพนักงานที่อยู่ในตำแหน่ง leadership ขององค์กรเป็นผู้หญิงถึง 79 เปอร์เซ็นต์ และในปีที่ผ่านมา ลอรีอัล ประเทศไทย ได้มีการขยายสวัสดิการให้พนักงานผู้หญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ 115 วัน และพนักงานผู้ชายสามารถลาเพื่อดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 2 สัปดาห์ โดยพนักงานที่มีการรับบุตรบุญธรรมสามารถใช้สิทธิ์การลาได้ด้วยเช่นกัน