ทอดทิ้ง-ทำร้าย-คุกคาม ผลวิจัยชี้ผู้สูงอายุในไทยยังน่าห่วง

143

ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ผู้สูงอายุภายในบ้าน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลาน แต่ไม่น่าเชื่อว่า ปัจจุบัน ยังมีผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิ์ในหลายกรณี และอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ถึงขั้นที่เรียกว่าวิกฤติ  ฟังแล้วต้องใจหาย ทั้งการถูกทิ้ง ถูกทำร้าย รุนแรงไปจนถึงการคุกคามทางเพศ

ข้อมูลเหล่านี้ เปิดเผยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) จากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุในไทย”โดย รศ.ดร.จิราพร เกศพิชยวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ สนับสนุนโดย มส.ผส.และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิชาการในงานเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง “สิทธิของผู้สูงอายุไทยในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” ที่จัดขึ้นในวันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561   ณ ห้องประชุมแมนดาริน เอ  โรงแรมแมนดาริน ถ.พระราม 4 กรุงเทพฯ

สำหรับงานวิจัยดังกล่าว ได้ศึกษาถึงเหตุความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในผู้สูงอายุ ทั้งจากสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้บริบทสังคมไทยทุกภาคส่วน พร้อมเก็บรวบรวมสถิติความรุนแรงและการละเมิดที่เกิดจากการนำเสนอในหน้าข่าวของสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์    จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ บุคลากร ที่มีส่วนในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ

รายงานการวิจัย ระบุว่า  ปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในผู้สูงอายุที่เกิดมากสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือการที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้ดูแลที่เหมาะสม พบทั้งประเภทที่มีลูกหลานแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ประเภทที่มีลูกหลานแต่ถูกทอดทิ้ง  บางรายมีสภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม ทั้งยังต้องเลี้ยงดูหลานไปด้วย  นอกจากนี้ยังพบการทอดทอดทิ้งผู้สูงอายุให้ต้องอยู่ตัวคนเดียว จากความพิการร่างกายที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ความพิการทางสมอง

ที่ร้ายแรงสุดคือการที่ผู้สูงอายุถูกลูกหลานนำมาปล่อยไว้ในสถานที่สาธารณะ เหตุทั้งหมดนี้เมื่อปรากฏข่าวสารทางหน้าสื่อ ก็มักจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลเป็นกรณีๆไป

ปัญหาต่อมาคือ การถูกทำร้ายร่างกาย ที่พบว่าผู้กระทำส่วนใหญ่มักเป็นคนในครอบครัว และเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ จากการวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่ผู้กระทำมีความเครียด บ้างบกพร่องทางสติปัญญา  ติดสารเสพติด บางครั้งพบผู้สูงอายุถูกทำร้ายร่างกายโดยบุตรหลานที่ต้องการทรัพย์สินมาเป็นของตัวเอง ส่วนการถูกทำร้ายจากบุคคลภายนอกนั้นรายงานวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคดีอาชญากรรมที่ผู้กระทำมุ่งต่อทรัพย์สินผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว มิจฉาชีพเลือกลงมือเพราะเห็นเหยื่อไม่สามารถปกป้องตัวเองได้

ที่น่าเศร้าคือ การข่มขืนและคุกคามทางเพศ ที่เริ่มพบมากขึ้นและปรากฏบ่อยในสื่อสาธารณะ รายงานวิจัย ระบุว่า  ผู้กระทำมักเป็นบุคคลในครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นหลาน แต่เหตุที่เกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกก็มีให้เห็น น่าสังเกตคือผู้ที่กระทำทั้งหมดจะอ้างว่าเมาสุรา แล้วเห็นผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวไม่สามารถป้องกันตัวเองได้จึงเป็นเหยื่อให้เลือกที่จะลงมือเป็นอันดับแรก  แต่อีกปัญหาที่น่าห่วงไม่แพ้กัน คือการละเมิดด้วยการเอารัดเอาเปรียบหลอกลวงผู้สูงอายุให้เสียทรัพย์สิน ที่ส่วนใหญ่เกิดจากบุตรหลานและบุคคลในครอบครัวและคนใกล้ชิดเช่นเคย รูปแบบการละเมิดมีทั้งการหลอกให้หลงเชื่อทำธุรกรรมทางการเงิน หลอกให้ลงนามสัญญากู้ยืม นอกจากนี้ผู้สูงอายุจำนวนมากยังถูกหลอกลวงโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือล่อให้ซื้อสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งพบว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมาการเอารัดเอาเปรียบผู้สูงอายุในลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง

“จากการวิจัยภาคสนามพบสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดผู้สูงอายุในชุมชน ส่วนใหญ่เกิดจากบุคคลใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว คู่สมรส เพื่อนบ้านใกล้เคียง นอกจากจะมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังมีลักษณะซ่อนเร้นปัญหา ปัจจัยสำคัญของการละเมิดคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจในครอบครัวบุตรหลานต้องย้ายถิ่นไปหางานทำ ถ้ามีรายได้ไม่พอที่จะเอาตัวรอด ก็จะไม่สามารถส่งเสียดูแลผู้สูงอายุได้จนนำมาสู่การถูกทอดทิ้ง ประกอบกับความเครียดในครอบครัวที่มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็จะนำมาสู่การกระทบกระทั่ง ทะเลาะรุนแรง คาดการณ์ว่า ยังมีปัญหาผู้สูงอายุที่ยังถูกปิดบังซ่อนเร้นอยู่ในสังคมอีกไม่น้อย เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล ให้เกิดปัญหากับลูกหลาน และบุคคลในครอบครัว”รายงานวิจัย ระบุ

งานวิจัยยังได้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงและการละเมิดในผู้สูงอายุเอาว่า ต้องเริ่มจากระดับบุคคล ที่ควรช่วยกันปลูกฝังทัศนคติ ส่งเสริมพฤติกรรมเกื้อกูลเลี้ยงดูบุพการี รวมทั้งค่านิยมต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ ส่วนในระดับครอบครัวจะต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ยกค่านิยมดีงามของวัฒนธรรมไทยที่ให้เกียรติยกย่องผู้อาวุโส เช่นเดียวกันการดำเนินการในระดับชุมชน ที่จะต้องมีการจัดกิจกรรมให้ชุมชนตระหนักถึงภัยความรุนแรงในผู้สูงอายุ จัดระบบเฝ้าระวังหรืออาสาสมัคร ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนที่มีความเสี่ยง สำหรับมาตรการป้องกันในระดับสังคม คือการให้ความรู้เพื่อเท่าทันกับระดับปัญหาความรุนแรงที่เกิดและสามารถหาหนทางแก้ มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบที่น่าจะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังต้องขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำหนดมาตรการบังคับใช้ให้สังคมต้องปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุ  ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมียุทธศาสตร์หรือแผนงานให้สอดคล้อง สุดท้ายคือการขับเคลื่อนสังคม เช่นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน การทำให้ผู้สูงอายุเป็นพลังในเชิงบวกให้กับประเทศ

เริ่มต้นจากตัวคุณ เริ่มต้นในบ้านคุณ แม้ผู้สูงอายุในบ้านของท่านอาจจะไม่ได้ถูกทอดทิ้งหรือทำร้าย แต่การให้ความใส่ใจ พูดคุย ถามไถ่ และหากิจกรรมทำร่วมกันบ้าง อย่างน้อยแค่การกลับไปกินข้าวเย็นพร้อมกัน หมั่นโทรหา หรือกลับไปเยี่ยมเยียนท่านบ่อยๆ ก็จะช่วยให้ชีวิตในบั้นปลายของคนที่ท่านรักมีความสุขได้มากยิ่งขึ้น