ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บริษัท วัชรธุรกิจเซ็นเตอร์ จำกัด สาขามิตรภาพ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 20.33 น. ตั้งอยู่เลขที่ 9 ถนนมิตรภาพ ตำบลปากเพรียว อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นโกดังเก็บรถจักรยานยนต์ทั้งเก่าและใหม่จำนวนมาก ส่งผลให้รถจักรยานยนต์ที่เก็บอยู่ในโกดังเสียหายกว่า 600 คัน โดยในช่วงเวลาที่เกิดเหตุไม่มีผู้อาศัยอยู่ภายในร้าน จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่าโกดังแห่งนี้ได้มีการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) กับบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 0042506007000097 โดยมีทุนประกันภัย 32,617,063 บาท ซึ่งขณะนี้ได้ประสานบริษัทประกันภัยเข้าสำรวจความเสียหายของทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยเพื่อการประเมินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริงแล้ว พร้อมทั้งได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 4 จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงาน คปภ. จังหวัดสระบุรี ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ และมอบหมายให้ประสานบริษัทประกันภัยเร่งสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยความรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรมต่อไป
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 01.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ชุมชนหลังวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร ถนนเพชรเกษม ซอย 28 แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นชุมชนแออัดมีบ้านเรือนปลูกติดกันจำนวนกว่า 100 หลังคาเรือน ในเบื้องต้นเสียหายไปกว่า 20 หลังคาเรือน จึงได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระลงพื้นที่เพื่อติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยอย่างทันท่วงที โดยไม่พบผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ยังพบว่าบ้านเรือนที่เสียหายกว่า 20 หลังคาเรือนไม่มีการทำประกันภัยอัคคีภัยไว้แต่อย่างใด
เลขาธิการ คปภ. ได้แสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับผู้ได้รับความเสียหายทุกท่านในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกล่าวว่าอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และสามารถช่วยแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนของท่านได้ จากสถานการณ์ปัจจุบัน สภาพอากาศแห้ง ความชื้นต่ำ ซึ่งง่ายต่อการเกิดอัคคีภัย และจากข้อมูลของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2560 ได้มีการบรรเทาสาธารณภัยจากเหตุอัคคีภัย จำนวนกว่า 3,798 ราย ซึ่งมาจากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร เพลิงไหม้อาคาร/สิ่งของในอาคาร เพลิงไหม้ยานพาหนะ รวมถึงเพลิงไหม้หญ้าและขยะ สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนทุกคน ขอให้ป้องกันและระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดเหตุอัคคีภัย หมั่นตรวจสอบระบบสายไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ไม่ชำรุด ดับธูปเทียนบูชาพระหรือไหว้เจ้าก่อนเข้านอน หรือออกจากที่พักอาศัยทุกครั้ง เก็บวัสดุติดไฟง่ายให้อยู่ในที่ปลอดภัย และควรจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยและเครื่องดับเพลิงไว้ประจำบ้านและหมั่นบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองหรือความเกี่ยวเนื่องกับไฟไหม้ เช่น กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย และกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ที่จะให้ความคุ้มครองกว้างกว่าอัคคีภัย เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ การโจรกรรมและอุบัติเหตุจากสาเหตุที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อยกเว้น เป็นต้น นอกจากนี้ หากมีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงและการมีระบบการจัดการที่ดีจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยเพียง 400 บาทต่อปี ให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยถึง 3 ภัย คือ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า การระเบิด อีกทั้งคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติอีก 4 ภัย ได้แก่ ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว และภัยลูกเห็บ และหากเกิดความเสียหายจนทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถอยู่อาศัยได้ จำเป็นต้องจัดหาที่พักชั่วคราวก็จะได้รับความคุ้มครองอีกไม่เกินวันละ 300 บาท ไม่เกิน 30 วัน (หรือไม่เกิน 9,000 บาท) ประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ สามารถเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงของตนเองได้ โดยขอให้พิจารณาจากสถานที่ตั้ง และลักษณะการใช้อาคารของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยด้วย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186