มาเปิดความจริงกัน #คัดค้านต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว

5

หาก ครม. อนุมัติต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า 30 ปีให้ BTS (ของเดิมเหลือ 7 ปี +ของใหม่ต่อเพิ่มอีก 30 ปี) นี่คือสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องเจอจนถึงปี 2602

#เจอกับค่าครองชีพราคาแพง
เมื่อราคาค่ารถไฟฟ้า 65 บาทตลอดสาย เดินทางไป – กลับ 130 บาท (ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางอื่น ๆ และค่ากินใช้ในแต่ละวัน) ซึ่งคิดเป็น 39% ของค่าแรงขั้นต่ำ (ค่าแรง กทม. 331 บาท นั่งรถไฟฟ้าไปกลับ 130 บาท = 39%) จนถึงปี 2602 เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ค่าโดยสารคิดเป็นเป็น 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ

#เจอกับความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส
เมื่อค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาแพง ย่อมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนของประชาชนที่ไม่สามารถจ่ายค่าตั๋วเดินทางได้ จำเป็นต้องใช้รถโดยสารประจำทาง นั่นย่อมเท่ากับโอกาสและเวลาที่หายไปจากการจราจรที่ติดขัด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า รถไฟฟ้า เป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพด้านความคล่องตัว ประหยัดเวลา และควบคุมเวลาได้

#เจอกับจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์บนท้องถนนเพิ่มขึ้นนนนน
เมื่อค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาแพง สวนทางกับรายได้ที่ได้รับ ประชาชนจำนวนมากอาจต้องหาทางออกอื่นนอกจากใช้รถโดยสารประจำทาง คือ ออกรถยนต์ส่วนตัวหรือรถจักรยานยนต์ จะทำให้ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นจากจำนวนรถที่เพิ่มขึ้น การจราจรที่ติดขัด และมลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและร่างกายของคนกรุงเทพลดต่ำลงจนยากจะกู้กลับคืนมา

#ปิดโอกาสค่าโดยสารร่วม เพื่อให้ทุกคนขึ้นได้
เพื่อทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง นำไปสู่การทำให้เกิด #ค่าโดยสารร่วม ไม่ต้องเจอกับค่าแรกเข้าเมื่อเปลี่ยนสายขบวนการเดินทาง (เช่น เปลี่ยนขบวนเดินทางจาก MRT มา BTS) การกำหนดค่าโดยสารร่วมของรถไฟฟ้าทุกสาย เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องทำให้เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชนแบบไร้รอยต่อ ทั้งในเรื่องคุณภาพและราคา จะทำให้คนรายได้น้อยและคนทุกกลุ่มสามารถใช้รถไฟฟ้าต่อรถเมล์เพื่อใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แต่หาก ครม.มีมติต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวให้เอกชน (BTS) ดำเนินการไปแล้ว โอกาสการใช้ระบบขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึงได้จะกลายเป็นศูนย์

#ร่วมกันแชร์ แสดงพลังคัดค้านต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

#อย่าเชื่อ ว่าเอกชนจะขาดทุน หากไม่ใช้อัตรา 65 บาทตลอดสาย เพราะเอกชนยังหาประโยชน์ได้จากค่าเช่าพื้นที่ ค่าเชื่อมต่อสถานี ค่าโฆษณาสถานี