ชีวิตที่เร่งรีบในสังคมที่ต้องต่อสู้แข่งขัน บวกกับความแออัดของจำนวนประชากร โดยเฉพาะการจราจรที่ติดขัด พร้อมปัญหาส่วนตัวของแต่ละคนที่รุมเร้า ทำให้คนในปัจจุบันต้องเผชิญกับสภาวะความเครียดโดยไม่รู้ตัว จนหลายครั้งก่อให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างกัน ทั้งการด่าทอ ทำร้ายทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการทำให้เสื่อมเสียเกียรติ
ปัญหาเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว หลายคนก็ต้องมานั่งเสียใจ พร้อมการสำนึกผิดว่า ไม่น่าทำลงไป แต่ท้ายสุดก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้ใช้ชีวิตปกติไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น หากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ไม่ว่าเราจะเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำ ก็มีคำแนะนำจากกรมสุขภาพจิต มาให้ได้คิดทบทวน เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องราวเหล่านั้นเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับกรณีข่าวการทุบรถกระบะที่ย่านประเวศ กทม. เนื่องจากไม่สามารถขับรถออกจากบ้านได้ จนนำไปสู่การนำขวานไปฟันรถ และกลายเป็นคลิปดังที่เผยแพร่ไปยังโลกออนไลน์ ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีข่าวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สะท้อนถึงปัญหาสังคมที่สืบเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจและการขยายตัวของสังคมเมืองที่มีแนวโน้มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และภาวะจิตใจของประชาชน มีความเสี่ยงเกิดความรุนแรง เช่น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย จึงขอให้ประชาชน ใช้ความรักใคร่ ปรองดอง เอื้ออาทร “ใจเขาใจเรา” ที่เป็นวัฒนธรรมพื้นฐาน จุดแข็งของคนไทยมาใช้ในสังคมเมือง โดยไม่ควรเพิกเฉยต่อปัญหารอบข้าง ขอให้ช่วยเหลือกัน ปัญหาเพื่อนบ้านก็เหมือนปัญหาของเราด้วย เพราะหากไม่ช่วยเหลือกันปัญหานั้นจะกลับมาส่งผลกระทบต่อเราในอนาคตเช่นกัน
ทางด้านนายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า เรื่องการใช้ชีวิตประจำวันในสภาพสังคมเมืองมักเกิดจะเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว และเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ขอให้ประชาชนตั้งสติ ควบคุมตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะอารมณ์โกรธและนำมาซึ่งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นเมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น ขอให้ใช้วิธีจัดการกับความโกรธโดย ตั้งสติ รู้ตัวเองว่า “โกรธ” ให้ผ่อนคลายอารมณ์โดยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ หรือใช้วิธีการนับเลขต่อเนื่อง เช่น 1-10 , 1-50 เป็นต้น จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์จากหนักเป็นเบาได้ หากประเมินแล้วควบคุมได้ยากหรือสถานการณ์มีความเครียดและมีความเสี่ยงอาจเกิดการปะทะกันขอให้ออกจากสถานการณ์ไปก่อนจะช่วยสงบอารมณ์ได้
นายแพทย์อภิชาติ กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่มีความเครียดสะสม จะมีความอดทนต่ำเมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่ถูกใจ ดังนั้นประชาชนจะต้องฝึกการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้เข้มแข็ง พร้อมที่จะปรับตัว เผชิญกับปัญหาโดยไม่เกิดคามเครียด โดย ออกกำลังกายให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 30 นาที อาทิตย์ละอย่างน้อย 3 วัน พักผ่อนให้เพียงพอ เช่น การนอนหลับ หรือไปเที่ยว ซึ่งจะต้องไม่เหนื่อยจนเกินไป และประการสำคัญ ประชาชนควรสำรวจตัวเองว่าเครียดอะไรและการหาวิธีจัดการความเครียดโดยเริ่มจากเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด หรือความรุนแรง ที่จะส่งผลกระทบ หากบางเรื่องแก้ไขไม่ได้และอาจส่งผลรุนแรง สามารถขอคำปรึกษาจากคนอื่นที่ไว้ใจได้ หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือ 191
ช่วยกันสร้างสังคมดีงาม ให้เมืองไทยยังคงเต็มไปด้วยน้ำใจ และการถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยการฝึกระงับอารมณ์ของตัวเอง ดังคำพระที่ว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” ดังนั้นจึงไม่โกรธดีกว่า จะได้ไม่บ้า ไม่โง่