แต่งงานไม่ใช่แค่ใจ รู้ทันร่างกาย เพื่อความสมบูรณ์ของลูก

67
แพทย์หญิงรุ่งทิวา กมลเดชเดชา

การจะสร้างครอบครัวกับใครสักคนนั้น สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมก่อนการแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมงานแต่งงาน หรือเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ  ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่อง สุขภาพ เพราะการเตรียมความพร้อมตรวจสุขภาพร่างกายก่อนแต่งงานเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อหนุ่มสาวตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกันนั่นหมายถึงการมุ่งหวังที่สร้างครอบครัวที่สมบูรณ์เพื่อการมีบุตรในอนาคต ดังนั้นการตรวจร่างกายก็เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการมีบุตร และตรวจหาโรคที่อาจซ่อนอยู่ในร่างกาย เพื่อไม่ให้โรคร้ายนั้นถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ได้

แพทย์หญิงรุ่งทิวา กมลเดชเดชา สูติ-นรีแพทย์ เวชศาสตร์การเจริญพันธ์ ศูนย์สุขภาพสตรี รพ.กรุงเทพ กล่าวว่าการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ไม่ใช่เพียงแค่การเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนจะมีลูกเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับคู่ที่อยากมีลูกอีกด้วย ทั้งนี้แต่ละคู่แต่งงานมีความพร้อมไม่เหมือนกัน บางคนอยากมีเลยทันทีหลังแต่งงาน ในขณะที่บางคู่อาจจะอยากทำงานและใช้ชีวิตด้วยกันก่อนสัก 1-2 ปีแล้วค่อยมี การตรวจร่างกายเพื่อเตรียมช่วงเวลาที่พร้อมจะมีลูก และเพื่อความมั่นใจของทั้งสองฝ่ายที่กังวลถึงความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ที่อาจถ่ายทอดไปสู่ลูกที่จะคลอดออกมาได้ การเตรียมช่วงเวลาที่เหมาะสมนี้จะดูว่า ผู้ที่เข้ารับการตรวจมีปัญหาสุขภาพ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคใดๆ อยู่บ้าง และแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น หากพบความผิดปกติ จะได้ตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เริ่มต้นจาก

1.การเข้าพบแพทย์ เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงขอคำปรึกษาและคำแนะนำโดยแพทย์เฉพาะทาง

2.หากอยากมีบุตรทันที ฝ่ายหญิงต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยการรับประทานโฟลิคแอซิดวิตามิน ในการวางแผนก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน

3.แต่หากยังไม่อยากตั้งครรภ์ แพทย์จะให้คำแนะนำและวิธีคุมกำเนิด

4.ผู้หญิงบางคนอาจมีซีสต์ หรือเนื้องอก หากตรวจพบปัญหาก่อนตั้งครรภ์ จะได้ไม่เป็นอันตรายทั้งแม่และลูกในขณะตั้งครรภ์

5.การตรวจเลือดเพื่อหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การเจาะเลือด การตรวจหากรุ๊ปเลือดหมู่โลหิต เอ บี โอ  และหมู่โลหิตอาร์เอช โดยทั่วไปคนไทยจะเป็นหมู่โลหิตอาร์เอชบวก (Rh positive) แต่บางคนก็พบได้ว่าเป็นชนิดอาร์เอชลบ ถ้าฝ่ายผู้หญิงมีเลือดเป็นอาร์เอชลบ (Rh negative) เมื่อตั้งครรภ์อาจจะมีความเสี่ยงต่อทารกได้ ในกรณีที่คู่สมรสเป็นอาร์เอชบวก การตรวจเลือดเพื่อหาพาหะธาลัสซีเมียที่พบได้บ่อยในคนไทย สามารถถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานนั้นควรเข้ามารับการตรวจพร้อมกันทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ในผู้ชายควรมาตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของโรคต่างๆ ที่จะเป็นพาหะหรือโรคติดเชื้อไปยังฝ่ายหญิงและส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น การตรวจหาเชื้อซิฟิลิส หรือโรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรคของคุณแม่ที่ไม่ควรตั้งครรภ์ เช่น โรคหัวใจบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่  ยาที่รับประทานอยู่ควรปรับหรือเปลี่ยนเพราะอาจส่งผลต่อความพิการในเด็กได้ โรคหัวใจบางชนิดรุนแรงและไม่ควรตั้งครรภ์เพราะจะเป็นอันตรายมากทั้งแม่และลูก หรือหากเป็นโรคไทรอยด์สามารถควบคุมได้หรือไม่ ถ้าควบคุมโรคได้ก็ตั้งครรภ์ได้ หรือหากฝ่ายหญิงเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ก็ควรให้โรคสงบก่อนเช่นกัน ถ้าโรคไม่สงบก็ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เพราะไม่ใช่แค่อันตรายต่อตัวเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นอันตรายต่อคุณแม่ด้วย ถึงขั้นที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ความแตกต่างของการตรวจเลือดในฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติมในการตรวจร่างกายฝ่ายหญิงก็คือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน ถ้าฝ่ายหญิงเป็นขณะตั้งครรภ์จะเกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้

หนุ่มสาวที่กำลังจะแต่งงานหลายคู่อาจคิดว่าร่างกายแข็งแรงดี หรือมีการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นปกติอยู่แล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ความเป็นจริงการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานเพื่อเป็นการเตรียมช่วงเวลาให้พร้อมเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งโรคประจำตัวบางชนิดอาจยังไม่แสดงอาการให้เห็นในวัยหนุ่มสาววัยทำงาน การที่โรคไม่แสดงอาการไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นโรค หรือไม่มีโรคนั้นๆ อยู่ในตัว และเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่จะส่งต่อไปยังลูกน้อยที่อาจเกิดมา ลดการส่งผ่านโรคร้ายไปสู่คนที่เรารักได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ Call Center โทร. 1719