BODHI THEATRE ชวนคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจถึง ‘แก่น’ ของศาสนาด้วยเทคโนโลยี

9

ปัจจุบันเมื่อโลกพัฒนาขึ้นตามเวลา เทคโนโลยีและการใช้ชีวิตก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มนุษย์ก็ค่อย ๆ ถูกทำให้วิถีชีวิตห่างเหินจากวัดมากขึ้นไปเรื่อย ๆ กระทั่งนานวันภาพของวัดที่มีสำหรับคนรุ่นใหม่ก็กลายเป็นสถานที่ที่พวกเขาไม่รู้ว่าจะเข้าไปทำไม

BODHI THEATRE ใช้พระอุโบสถของวัดสุทธิวราราม เป็นห้องฉายงานศิลปะที่เรียกว่า ‘Projection Mapping’ จากงานแอนิเมชันและเรื่องราวจากภาพกราฟิกที่เล่าถึงความน่าสนใจของพุทธศาสนาด้วยแสง สี และเสียง ซึ่งทีมเฉพาะกิจนี้ประกอบด้วย ธวัชชัย แสงธรรมชัย จาก WHY NOT Social Enterprise รับหน้าที่เป็น Project Manager โดยมี สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ เป็น Animator เป็นผู้ออกแบบงานภาพเคลื่อนไหว ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ ผู้ดูภาพรวมงานดีไซน์ กนต์ธร เตโชฬาร รับหน้าที่ Character Designer และก่อเกียรติ ชาติประเสริฐ ดูแล Sound Designer

“พวกเราทำโปรเจ็กต์นี้ในปี 2019 ตอนแรกได้วางช่วงเวลาในการแสดงงานไว้ประมาณหนึ่งเดือน แต่เนื่องจากคนให้ความสนใจมาก จึงขยายระยะเวลาเพิ่มเป็น 2 เดือน จริง ๆ อยากแสดงนานกว่านั้นแต่เนื่องจากการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดแสดงงานไปก่อน เพราะงาน Mapping เสน่ห์นั้นจะอยู่ที่การให้คนนั้นเข้ามาชมและสัมผัสกับประสบการณ์ด้วยตัวเอง” ชลธิชา หอมกลิ่นแก้ว หนึ่งในทีมงานที่ดูแลภาพรวมของโปรเจ็กต์เล่าให้ฟัง

แนวคิดของ BODHI THEATRE คือ Buddhist Prayer RE-TOLD เป็นการนำแก่นของพุทธศาสนามาทำให้คนดูจับต้องได้ในรูปแบบของงานศิลปะ โดยเสนอไอเดียนี้กับอาวาสวัดสุทธิวราราม (พระสุธีรัตนบัณฑิต) ซึ่งท่านก็เห็นดีเห็นงามด้วย ทีมจึงเรื่องสร้างเรื่องราวมาฉายลงไปที่ผนังของอุโบสถ และตัวองค์พระประธานเกิดเป็นภาพสามมิติ โดยนำบทสวดบทสวดพาหุงฯ มาตีความและสร้างตัวแคแร็กเตอร์ในการดำเนินเรื่อง

“เนื้อหาของบทพาหุงฯ หรือชัยมงคลคาถานั้นว่าด้วย ชัยชนะของพระพุทธเจ้าเหนือมารซึ่งมี 8 ตอน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องขององคุลีมาล การผจญกับพญามาร หรือเหล่าอสูรที่เข้ามาขัดขวางการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้า และเรื่องของพระแม่ธรณีบีบมวยผม เป็นต้น ซึ่งให้แง่คิดเกี่ยวกับการมีชัยชนะเหนือตัวเอง ซึ่งหลักธรรมนี้สามารถเอามาประยุกต์ใช้กับชีวิตของเราได้ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีก็ตาม”

ความท้าทายของงานนี้ที่ชลธิชาบอกกับเราคือ การต้องวางแผนให้รอบคอบเพราะการหยิบเรื่องของศาสนามาทำเป็นงานสร้างสรรค์นั้น ต้องให้ความละเอียดอ่อน ทีมงานยังคงแก่นของคำสอนไว้เหมือนเดิม เพียงแต่นำมาแต่งหน้าแต่งตัวเสียใหม่ เพื่อให้มีความน่าสนใจมากขึ้น เชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ซึ่งผลที่ได้คือเสียงตอบรับกลับมาที่ดีเยี่ยม

“จากเดิมที่เรามองเป้าหมายว่าจะเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่น เมื่องานได้จัดแสดงกลับมีคนที่หลากหลายวัยให้ความสนใจ ต่อคิวกันมาดูงาน ยอดจองบัตรในออนไลน์ก็เต็มทุกรอบ ซึ่งเราไม่คิดค่าตั๋วด้วย และยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สนใจเข้ามาชมงานมากมาย จนกลายเป็นการบ้านให้กับพวกเราว่า ถ้ามีการจัดงานครั้งต่อไปต้องมีการทำคำบรรยายหรือการแปลเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้พวกเขาเข้าใจด้วย”

จากยอดผู้เข้าชมที่มีกว่า 5,040 คน แสดงให้เห็นว่าโปรเจ็กต์ BODHI THEATRE : Buddhist Prayer RE-TOLD ไม่ได้เป็นแค่การสร้างสรรค์งานศิลปะให้ออกมาสวยงาม แต่ยังนำคุณค่าของศาสนาพุทธมาใช้ประกอบจนเกิดเป็นความลงตัว สร้างความอิ่มเอมใจให้กับคนที่เข้ามาชมงาน และนอกจากจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากกลับมาดูอีก แต่ยังรอคอยให้พวกเขาสามารถนำโปรเจ็กต์นี้หรือจะต่อยอดไปเป็นเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับศาสนาพุทธที่น่าสนใจ มาแสดงให้กับเราได้ดูกันอีกในอนาคต