อันตรายจากธรรมชาติเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ป้องกันได้ หากมีการเตือนภัย และร่วมกันปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับข่าวที่ยังออกมาสร้างความเสียใจมาอย่างต่อเนื่อง กับสถานการณ์ของแมงกะพรุนพิษ ที่คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวไปแล้วหลายราย
โดยเฉพาะในช่วงมรสุม ที่จะมีฝนตกหรือหลังฝนหยุดตกใหม่ๆ ใครที่ลงเล่นน้ำทะเลในตอนนี้ก็ต้องหมั่นสังเกตป้ายเตือนภัยเจ้าแมงกะพรุนพิษ และห้ามผ่าฝืนเด็ดขาด เพราะในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว และสงสัยว่าจะมาจากพิษแมงกะพรุนหลายรายในพื้นที่ภาคใต้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่มีมรสุมและฝนตกมักจะพบแมงกะพรุนถูกคลื่นซัดเข้ามาชายหาดจำนวนมาก โดยแมงกะพรุนที่พบทั่วไปในทะเลไทยมีหลายชนิด ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ ซึ่งในช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษมากกว่า 1,000 ราย และพบมากขึ้นในช่วงมีมรสุมของปี รวมถึงช่วงฝนตกหรือหลังฝนหยุดใหม่ๆ โดยเฉพาะทะเลในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ส่วนต้นปีนี้พบว่ามีข่าวผู้ได้รับบาดเจ็บสงสัยพิษแมงกะพรุนแล้วหลายราย
สำหรับการป้องกันแมงกะพรุนพิษ ขอให้ประชาชนระมัดระวังการลงเล่นน้ำทะเล โดยเฉพาะในช่วงมีมรสุม ขณะฝนตกหรือหลังฝนหยุดใหม่ๆ ขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่สงสัยถูกพิษแมงกะพรุน ดังนี้
1.เรียกให้คนช่วยหรือเรียกรถพยาบาล (โทร 1669) แต่ห้ามทิ้งให้ผู้บาดเจ็บอยู่ตามลำพัง เพราะอาจหมดสติภายในเวลาไม่กี่นาทีข้างหน้า
2.ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน
3.ห้ามขัดถูหรือขยี้ รวมถึงห้ามราดน้ำจืดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เพราะจะทำให้มีการยิงพิษเพิ่มขึ้น
4.ถ้าผู้ป่วยหมดสติและไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจก่อน หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
นับเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากมาก ดังนั้นจึงต้องอาศัยหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ หมั่นดูแลและสังเกต และแจ้งเตือน รวมทั้งการตั้งจุดปฐมพยาบาล ส่วนนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็ควรปฏิบัติตาม เพราะอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ หากเข้ารับการรักษาไม่ทัน หรือเจอเจ้าวายร้ายที่มีพิษสูง ก็อาจจะหมายถึงชีวิต