ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำ อัลตร้าซาวด์วินิจฉัยโรคในช้างชรา ช่วยลดเสียชีวิต

21

คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ หน่วยงานภายใต้การกำกับของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ร่วมกับ มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “วันช้างไทย 2565” เพื่อร่วมอนุรักษ์ช้างไทยที่เป็นสัตว์ประจำชาติ ตลอดจนความเป็นสัตว์สำคัญในระบบนิเวศและสัตว์ป่าคุ้มครอง พร้อมเสวนาเพื่อสุขภาพช้างไทย ในหัวข้อ “เทคโนโลยีช่วยช้างชราจากโรคได้อย่างไร?”

รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่า ช้างเอเชีย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่มีอายุยืนยาว โดยเฉลี่ยจะมีอายุได้มากถึง 70 ปี และหากมีการจัดการที่เหมาะสมก็อาจจะพบได้ว่าอายุขัยที่มากกว่านั้นได้ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับอายุเฉลี่ยของมนุษย์ ในประเทศไทย มีการเลี้ยงช้างเป็นจำนวนมาก ทั้งในสวนสัตว์ ปางช้าง และแคมป์ช้างรูปแบบต่างๆ มากมาย อยู่ทั่วทุกภูมิภาค

ประชากรช้างเลี้ยงในประเทศไทยมีมากถึง 4,000 เชื่อ และเช่นเดียวกับคน เมื่อช้างมีอายุมากเกินกว่า 40 ปี หรือเริ่มสู่วัยชรา ก็จะสามารถพบความเจ็บป่วยได้มากขึ้น ซึ่งอาจะป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุ หรือโรคที่อาจเป็นเรื้อรังแต่เพิ่งจะมาเริ่มแสดงอาการก็เป็นได้ โรคที่สามารถตรวจพบได้ในช้างชรา เช่นปัญหากระดูกและข้อ ปัญหาสุขภาพเท้า โรคทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ โรคไต หรือมะเร็ง เป็นต้น

โรคในช้างชรา บางโรคสามารถปรับที่ด้านการจัดการด้านการเลี้ยงได้ เช่น ช้างในอายุมากเมื่อมีการผลัดฟันชุดสุดท้ายไปแล้ว จะส่งผลต่อการเคี้ยวหญ้า ซึ่งเป็นอาหารหลักของช้าง จึงต้องมีการปรับจากการให้หญ้าทั้งต้น เป็นหญ้าสับ ที่มีความละเอียดมากขึ้น สะดวกต่อการเคี้ยวและการย่อย ก็จะสามารถลดปัญหาภาวะท้องอื่ด หรือโรคในระบบทางเดินอาหารได้

อย่างไรก็ตาม โรคบางโรคนั้นอาจเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการป่วยชัดเจน หรือช้างอาจซ่อนอาการจนกว่าภาวะความผิดปกตินั้นรุนแรง และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที มีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้ยกตัวอย่างเช่น การตรวจพบนิ่วในไต หรือนิ่วกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งนิ่วในช้างสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับน้ำดื่มไม่สะอาดหรือไม่เพียงพอ หรือการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม เป็นระยะเวลายาวนานก็สามารถทำให้เกิดนิ่วได้

หากไม่สามารถทำการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที จะทำให้ช้างเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิต ก้อนนิ่วนั้นไม่สามารถมองเห็นหรือวินิจฉัยได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องใช้วิธีการวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยสัตวแพทย์ โดยทั่วไปในคนหรือในสัตว์เลี้ยง จะใช้วิธีการทำอัลตราซาวด์ร่วมกับการตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดอย่างละเอียด ซึ่งในช้างข้อมูลตรงนี้ยังมีน้อยมาก

อาจารย์ นายสัตวแพทย์ฐิติพงษ์ ปลั่งแสงมาศ อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่า อัลตร้าซาวด์ ปัจจุบันถือเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วทุกพื้นที่ และมีความจำเป็นอย่างสูงในการรักษาสัตว์ ในการรักษาช้าง จึงเริ่มมีการนำอัลตราซาวด์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยรวมถึงการทำงานวิจัยเพื่อตรวจความผิดปกติต่างๆ ภายในร่างกายช้าง เพื่อให้ตรวจพบสาเหตุของการเจ็บป่วยได้อย่ารวดเร็วและสามารถพบสาเหตุของการเจ็บป่วยได้อย่างรวดเร็ว และสามารถทำการักษาได้ทันท่วงที และหากผลวิจัยมีแนวโน้มที่ดี ก็จะเป็นประโยชน์เพื่อให้สัตวแพทย์ทั่วโลก สามารถใช้การอัลตร้าซาวด์มาประกอบการตรวจสุขภาพช้างอย่างสม่ำเสมอ ในการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกในช้างอีกด้วย