สจล. แนะหญิงไทยหมั่นคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

66

แพทย์ สจล. แนะหญิงไทยหมั่นคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พบผู้ป่วยสูง 6,000 รายต่อปี ชูนวัตกรรมเอไอ ตรวจมะเร็งปากมดลูกรู้ผลไวใน 1 วินาที โดยวิศวกรชีวการแพทย์

รศ. นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ สจล. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMC Hospital) และผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีแพทย์ เผยว่า โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นภัยมะเร็งที่คุกคามหญิงไทยสูงมากเป็นอันดับที่ 2 โดยพบผู้ป่วยรายใหม่สูงกว่า 6,000 คนต่อปี โดยมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยถึง 14 รายต่อวัน ซึ่งสาเหตุกว่าร้อยละ 99 เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ที่สัมผัสทางเพศสัมพันธ์

โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปทำให้เนื้อเยื่อปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นรอยโรคเนื้อเยื่อปากมดลูกผิดปกติที่เรียกว่ารอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง และกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รับเชื้อจนเป็นมะเร็งใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรใส่ใจป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัส HPV และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้งติดต่อกันสามปี หากไม่พบเชื้อไวรัส HPV สามารถเว้นระยะได้อีก 2 ปี เนื่องจากเชื้อ HPV จะใช้เวลา 5 ปี ก่อนเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

“อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV แต่วัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ 16 และ 18 เท่านั้น ยังมีโอกาสที่ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์สามารถป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์อื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน ดังนั้นถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วแต่การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกก็ยังมีความจำเป็น เพราะการพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็งได้จะช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคและจำนวนผู้ป่วยลงตามลำดับ”

รศ. นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่ 1.วิธีการเปปสเมียร์หรือการป้ายเซลล์จากมดลูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2.การตรวจหาเชื้อ HPV 3. การใช้น้ำส้มสายชูเจือจาง 3-5% ป้ายบนปากมดลูกนาน 1 นาที แล้วสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของสีเยื่อบุปากมดลูกด้วยตาเปล่า หากพบความผิดปกติก็จะเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยโดยใช้กล้องคอลโปสโคปส่องหาความพบความผิดปกติบริเวณปากมดลูก

โดยแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจเพิ่มเติม หากในอนาคตนักวิจัยไทยสามารถพัฒนากล้องตรวจหามะเร็งปากมดลูกร่วมกับการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเอไอที่ใช้ได้ผลจริงและมีความแม่นยำสูงก็จะช่วยให้แพทย์ทำการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วแม่นยำยิ่งขึ้นช่วยทดแทนการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาสูงจากต่างประเทศได้

สจล. จึงได้สนับสนุนการวิจัยนวัตกรรม AI ตรวจมะเร็งปากมดลูกอัตโนมัติ เพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการใช้วินิจฉัยจากภาพ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และนำมาศึกษาวิจัยในผู้ป่วยต่อไป รวมทั้งเตรียมขยายการศึกษาวิจัยเพื่อวินิจฉัยรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกอนาคต ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการแพทย์และวิศวกรรมเข้าด้วยกันเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสังคม

” ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ซึ่ง สจล. ได้ส่งเสริมมาโดยตลอด จนได้รับการจัดอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยไทยที่มีความโดดเด่นด้านงานวิจัย (Research) โดย Times Higher Education World University Rankings 2021 (Asia- Pacific) จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วเอเชีย ” รศ. นพ.ประเสริฐ กล่าว

ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. นักวิจัยเจ้าของผลงาน กล่าวเสริมว่างานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย ในวงเงินกว่าหนึ่งล้านบาท โดยทางทีมวิจัยได้พัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมหรือดีกว่าการนำเข้าอุปกรณ์ต่างประเทศ โดยฝีมือของนักวิจัยไทยเพื่อช่วยผู้หญิงไทยทราบผลการตรวจมะเร็งและเข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็วขึ้นเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้

นวัตกรรม AI ตรวจมะเร็งปากมดลูก ที่ทางทีมวิจัยได้สร้างขึ้นมีจุดเด่น 2 ประการ ได้แก่ 1. มีกล้องคุณภาพสูงจำนวน 2 ตัวทำหน้าที่เก็บภาพปากมดลูกโดยละเอียดและแสดงผลออกมาเป็นภาพสามมิติซึ่งแตกต่างจากกล้องคอลโปสโคปโดยทั่วไปที่ให้ภาพแบบสองมิติ 2.มีเทคโนโลยีเอไอติดตั้งภายในตัวกล้องทำให้สามารถจำแนกภาพเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูกได้อย่างรวดเร็ว 3. สามารถส่งผลการตรวจภาพบริเวณที่มีความผิดปกติของปากมดลูกพร้อมกับร้อยละของโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้พร้อมกันอย่างรวดเร็วใน 1 ในหนึ่งวินาที

ผลการทดลองโดยใช้ภาพถ่ายจากภาพฐานข้อมูลมะเร็งปากมดลูกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยค่าความถูกต้อง (Accuracy) อยู่ที่ร้อยละ 85 และค่าความไว (Sensitivity) อยู่ที่ร้อยละ 80 ในอนาคตอันใกล้จะเตรียมนำ AI ตรวจมะเร็งปากมดลูกอัตโนมัติ มาศึกษาความเป็นไปได้ และนำมาศึกษาวิจัยในผู้ป่วยต่อไปในโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร และโรงพยาบาลอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรในด้านการวิจัย เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงพยาบาลสิรินธร