เจอเมื่อไหร่ แจกอะไร จบจริงไหม ป่วยโควิด-19 ได้ยาอะไร

50

โรคโควิด-19 อยู่กับชีวิตคนเราเข้าปีที่ 3 แล้ว แต่ระบบการจัดการที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ยังคงล่าช้า ไม่เท่าทันความต้องการ กว่าที่ผู้ป่วยจะได้เข้าระบบ ไม่ว่าจะสิทธิ์ประกันสังคมหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐ ยังมีอะไรให้ตั้งคำถามกันไม่หยุดหย่อน

จากประสบการณ์ตรงในการเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ขั้นตอนเริ่มยุ่งยากตั้งแต่การหาที่ตรวจยืนยันการพบเชื้อจากทาง รพ. แม้จะมี รพ.ประกันสังคมอยู่ แต่ต้องลงทะเบียนรอคิว ซึ่งระบบแจ้งว่าเต็มยาวถึงสิ้นเดือนมีนาคม และห้ามวอล์คอิน ใครที่ทำประกันไว้ต้องใช้ผล RT PCR ก็ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งที่นี่ (รพ.เอกชน ตามสิทธิ์ประกันสังคม ย่านลาดพร้าว) คิดราคา 2,500 บาท หากขอใบรับรองแพทย์ จ่ายเพิ่มอีก 650 บาท

ดังนั้นจึงขอตัดตอนไปหาที่ตรวจ RT PCR ที่อื่น ได้ผลยืนยันติดแน่นอน สามวันผ่านไป ยังติดต่อที่ไหนไม่ได้ รวมทั้ง สปสช. ส่วนอาการ มีไข้ เจ็บคอหนัก อ่อนเพลีย กินเพียงยาฟ้าทะลายโจรที่มีอยู่ในบ้าน จนถึงวันที่ 3 ของการติดเชื้อ จำใจยอมออกมาที่ รพ.ตามสิทธิประกันสังคม ความหวังเพื่อ “หาหมอ ขอยา” ไปถามในแผนกประกันสังคมปกติ ได้รับคำตอบว่าให้ไปตรงจุดตรวจโควิด

เมื่อไปถึงก็สอบถามว่า “มีผล RT PCR มาแล้ว ตอนนี้มีอาการป่วย จะขอหาหมอรับยาได้ไหม”ได้รับกระดาษใบเล็ก ๆ พร้อมน้ำเสียงห้วน ๆ ว่า “ข้อ 4”

ในกระดาษระบุว่า ข้อ 4 ผู้ที่ตรวจ RT PCR จากที่อื่น ให้ลงทะเบียนรอเตียง (ที่ รพ. โคไว้กับโรงแรม) เพราะ รพ.แห่งนี้ ไม่มีระบบรักษาแบบ Home Isolation (HI) หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ประเด็นนี้ก็ควรจะมีการประกาศทางออนไลน์ให้ได้ทราบด้วย

เล่าที่มาพอประมาณ ก่อนหน้าที่ได้ลงทะเบียนกับ สปสช.ไว้แล้วด้วย แต่ยังรอการติดต่อกลับ เลยต้องจำใจรักษาตัวเองไปก่อน กลับเข้าที่พัก เก็บตัว กินฟ้าทะลายโจร จนช่วงเย็นในวันที่ 3 ของการติดเชื้อโควิด-19 (วันเดียวกันที่ไป รพ.) จึงได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ 1330 และบอกเบอร์ให้แอดไลน์ใหม่ เป็นโรงพยาบาลที่ลำปางโน่น
อีกวัน (วันที่ 4) มี SMS ระบุว่าเป็น DMS Home Isolation ลิงค์แบบฟอร์มให้ลงทะเบียน จึงได้ทราบว่า เป็น HI แบบผู้ป่วยนอก จะได้รับแค่ยา ส่วน HI แบบผู้ป่วยใน จะได้รับยา พร้อมค่าอาหารรายวัน ในลิงค์ที่ส่งมา ระบุว่า Home Isolation “เต็ม”

เย็นอีกวันหนึ่ง (วันที่ 5 ที่ป่วย) มีไรเดอร์มาส่งยา ภายในกล่องพัสดุเล็ก ๆ มียาซองยาแปะโลโก้กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย ฟาวิพิราเวียร์ (50 เม็ด) พาราเซตามอล แก้ปวดลดไข้ (20 เม็ด) คลอเฟนิรามิน ยาลดน้ำมูก (20 เม็ด) บรอมเฮกซิน บรรเทาไอละลายเสมหะ (20 เม็ด) ผงเกลือแร่ Sodium-75 ยี่ห้อ ORS 10 ซอง และยาแก้ไอน้ำดำขององค์การเภสัชกรรม ระบุราคาขวดละ 25 บาท 1 ขวด รวม ๆ ก็ไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่ แต่นอกจาก ฟาวิพิราเวียร์แล้ว อื่น ๆ ก็ถือเป็นยาพื้นฐาน

มีกระดาษสำหรับคำแนะนำการกินยาฟาวิพิราเวียร์ สองมื้อแรก ให้กินครั้งละ 9 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง จากนั้น มื้อต่อไปก็กินครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง ก็เริ่มกินยาตั้งแต่เย็นวันที่ได้รับ และหยุดกินฟ้าทะลายโจร ตามที่ได้อ่านข่าวมาว่าไม่ควรรับประทานคู่กัน เพราะจะเป็นพิษต่อตับ

ในกล่องพัสดุที่บรรจุยามายังมีเอกสาร 1 แผ่น เป็น “หนังสือแสดงความยินยอมการเข้ารับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ด้วยรูปแบบผู้ป่วยนอกร่วมกับแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with Self Isolation)” จะเห็นว่าไม่มีคำว่า Home Isolation แล้ว

ประเด็นของ HI จึงค่อนข้างงงงวย นั่นอาจจะเป็นเพราะผู้ป่วยมีสิทธิ์ประกันสังคมอยู่ด้วย และนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการแยกประเภทผู้ป่วยอาการน้อยออกไปรักษาอีกแนวทาง เพราะ HI เต็มรูปแบบ จะต้องมีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น เครื่องมือวัดอุณหภูมิ มีหมอคอยถามไถ่ทุกวัน มีค่าอาหารให้
แต่ก็สงสัยว่า “ผู้ป่วยนอกร่วมกับแยกตัวที่บ้าน” เหตุใดจึงไม่มีนโยบายมอบค่าอาหารให้ ทั้ง ๆ ที่ก็ป่วย และกักตัวเหมือนกัน

แล้วในกรณีของคำว่า “รอเตียง” ที่ รพ. กำหนดมา จะต้องรอไปถึงเมื่อไหร่ ช่วงที่คนไข้มีอาการ เหตุใดจึงไม่ทำการรักษาตามอาการ ตอนเป็นหวัดปกติ หมอยังให้ยาตามปกติ ถึงจะเป็นยาพื้นฐาน แต่ก็ไม่ต้องได้เตียงก่อน ถึงจะได้ยา
ระหว่างที่งงกับระบบหลากหลายที่เจอ ก็เข้าไปอ่านที่ชาวโซเชียลแชร์ไว้เพื่อเป็นข้อมูล ต่างก็เจอปัญหาหลายรูปแบบ และทราบว่าตอนนี้เตียงหายาก ไม่ต้องพูดถึงเตียงในโรงพยาบาลเพราะมีไว้สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ขนาดเตียงโรงแรมในระบบ Hotel Isolation หรือ Hospitel ตามสิทธิประกันสังคมก็ค่อนข้างเต็มในช่วงนี้ (กลางมีนาคม 2565)

รัฐบาลก็ยังคงแนะนำให้คนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ให้เข้าระบบ HI จึงกลายเป็น “ฝนเอยทำไมจึงตก” วกกลับมาที่เดิม ป่วยแล้วต้องรอ พอได้เข้า HI ก็โดนดันออกมาเป็นผู้ป่วยนอกของ HI อีกที ส่วนประกันสังคมนั้น เป็นอันรู้กันมานานแล้วว่า บริการและสิ่งที่ได้รับคืออะไร

จึงเห็นคนที่กักตัวเองมากขึ้น พวกเขาพอจะหายาเองได้ ไม่ต้องรอความหวังจากหน่วยงานใด เพราะรู้ว่าช้า แล้วแต่ละคนก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าระหว่างรอการรักษา จะมีอาการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ จึงไม่ได้มีอะไรดีไปกว่าพึ่งตัวเอง แต่ก็น่ากังวลนะ เพราะมีหลายคนที่รักษาตัวเอง หายเอง อยากออกไปไหนก็ไปซื้อหามาเอง เพราะไม่ได้อยู่ในระบบไหน ไม่มีใครคอยดูแลจับตามอง ที่ติดกันเยอะ ๆ มันเพราะเหตุนี้ด้วยหรือไม่
ประเด็นที่คาใจ

• Home Isolation ควรแยกผู้ป่วยนอกผู้ป่วยในเพื่ออะไร หากต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่บ้านอย่างเท่าเทียม หรือเพียงแค่อุปสรรคของงบประมาณด้านอาหาร วันละ 400 บาท ที่ผู้ป่วยต้องได้รับหากเข้าระบบ Home Isolation

• ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาแบบ Out-patient with Self Isolation หรือ HI OPD และได้รับยา (ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน ไม่มีแพทย์ติดตามอาการทุกวัน) เหตุใดจึงไม่มีค่าอาหารให้

• รพ.ในระบบประกันสังคม มีความผิดหรือไม่ ในกรณีผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการ และต้องการยา แต่ไม่ให้พบแพทย์ ไม่จ่ายยา หรือปัจจุบันสามารถยกเว้นการให้บริการกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ การรักษา จึงมาในรูปแบบของคำว่า “รอเตียง”

• การจ่ายยาจาก รพ. ในระบบประกันสังคม สามารถจัดชุดตามอาการพื้นฐานของคนป่วย แบบเดียวกับที่ สปสช. ทำได้หรือไม่ ผู้ป่วยจะได้มียารักษาตามอาการได้ก่อน (มีเพื่อนที่ไป รพ.ตามสิทธิ์บัตรทอง เมื่อเจอผลติดเชื้อ ก็รอรับยาออกมาได้เลย)

• รพ.ในระบบประกันสังคม ที่ไม่มีบริการ Home Isolation ถือว่าบกพร่องในความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น การรอเตียงใช้เวลานานขึ้น ทั้ง ๆ ที่ Home Isolation ก็คือทางเลือกสำหรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก หรือผู้ป่วยที่กำลังรอเตียง

• ยาที่ได้รับ สมเหตุสมผลกับงบประมาณหรือไม่

• เมื่อโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ความรับผิดชอบในการดูแลรักษาทางหน่วยงานต่าง ๆ จะลดลงอีกสักเพียงใด
โควิด-19 เป็นโรคที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิต ส่งผลต่อรูปแบบของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่โควิด-19 ก็คือโรคชนิดหนึ่ง ที่ต้องได้รับการดูแลรักษา อย่างเข้าถึง และเท่าทัน ไม่ว่าจะอาการมากหรือน้อย

เข้าปีที่ 3 แล้ว ยังเดินวนในอ่างมะพร้าว ผู้ป่วยยังต้องออกไปดิ้นรนหาทางออกให้กับตัวเอง โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่มีคนที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วย 1 คน ก็คือหนึ่งต้นเชื้อ คำว่า “เจอ แจก จบ” ก็เลยต้องถามว่า เจอเมื่อไหร่ แจกอะไร จบจริงไหม

ประเด็นค่าใช้จ่าย จากข่าวของ สปสช.
บริการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ที่เป็นการรักษาIแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OP self Isolation) เฉพาะผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งแยกการจ่ายชดเชยค่าบริการเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าบริการดูแลรักษาที่เป็นจ่ายแบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/ราย ครอบคลุมการให้คำแนะนำแยกกักตัวที่บ้าน การให้ยารักษา การประสานติดตามอาการ และการจัดระบบส่งต่อ 2.ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้นหลังครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว (บริการรองรับการติดต่อกลับ) เหมาจ่ายอัตรา 300 บาท/ราย (https://www.nhso.go.th/news/3510)