สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เผยตัวเลขภาพรวมมูลค่าอุตสาหกรรมกลุ่มนี้แตะหลัก 6.5 แสนล้านบาท รวมทั้งพบตัวเลขโตก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล ขณะที่บุคลากรดิจิทัลแม้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ จึงกลายมาเป็นโจทย์ท้าทายทั้งกับสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทโดยตรงในการผลิตกำลังคนป้อนอุตสาหกรรม
ผศ.ดร.ณัฐพร กาญจนภูมิ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า คณะไอซีที ซึ่งจัดตั้งมาประมาณ 19 ปี กำลังจับตามองเทรนด์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนที่จะต้องตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะเมื่ออุตสาหกรรมเติบโตก็ยิ่งมีความต้องการคนที่พร้อมทำงานได้จริงเร็วขึ้น ดังนั้น หลักสูตรยุคใหม่ต้องสามารถปรับปรุงแบบฉับไวตามความต้องการของผู้ประกอบการ สอดคล้องกับความต้องการด้าน“ทักษะ” ที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานจริงได้ ขณะที่ ผู้เรียนหรือนักศึกษาก็รู้ถึงความสนใจและความชอบและของตัวเอง สามารถเลือกเรียนหลักสูตรวิชาที่จะช่วยพัฒนาทักษะเฉพาะด้านที่ตรงกับสาขาการทำงานจริงในอนาคต
ความคาดหวังของผู้ประกอบการ ก็คืออยากรับคนเข้าไปแล้วทำงานได้เลย แต่ในฝั่งการผลิตบุคลากร ภาคการศึกษาก็คาดหวังว่า เมื่อนักศึกษาเรียนจบออกไป ก็จะต้องสามารถนำความรู้ที่เรียนมาไปต่อยอดในวิชาชีพได้ จึงจำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานที่รอบด้าน เพื่อไม่เป็นข้อจำกัดในการทำงานและสามารถเติบโตในสายวิชาชีพในอนาคตได้
“การที่เราจะสร้างคนเพื่อจบออกมาเพียงทำเฉพาะหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งอย่างเดียวนั้นไม่ยาก แต่การที่เราจะสอนให้เขารู้ว่า สิ่งที่เขาคิดว่าเขาชอบนั้น ตรงกับทักษะที่เขามีอยู่หรือไม่ การดึงทักษะที่ดีที่เขามีอยู่นั้นจะนำไปต่อยอด และใช้งานกับสิ่งรอบตัวอย่างไร รวมถึงเขามีทักษะพื้นฐานเพียงพอที่จะเรียนรู้ได้ไวหรือไม่ นี่คือพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เราต้องสร้างให้เขารู้รอบ ทดลองและทดสอบ เพื่อค้นหาความชอบและทักษะของตนเองให้เจอ ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการได้ไป ก็น่าจะยินดีที่ได้เด็กที่มีทักษะหลากหลายพร้อมทำงาน และมีความรักในงานที่ทำจากการได้ทดลองทำจริงแล้ว ดังนั้นในบทบาทของการพัฒนาคน มีความเชื่อว่าทุกคนต้องเรียนรู้เร็ว และไปต่อให้เร็วที่สุด การเรียนรู้ทุกอย่างรอบด้าน อ่านไว วิเคราะห์ไว จับประเด็นไว และปรับตัวเองให้ไว นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด”
สำหรับคณะไอซีที มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่าทักษะพื้นฐานรอบด้านจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น พร้อมยังยึดมั่นในเรื่องการวางพื้นฐานที่แข็งแรง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการปรับให้ทันสมัยมากขึ้น นั่นคือ นักศึกษาต้องรู้ว่าจบแล้วต้องการไปทำอะไร สามารถค้นพบความต้องการและความชอบของแต่ละคนให้ได้ ผ่านรูปแบบการเรียนการสอนของคณะฯ ที่ให้โอกาสได้ทดลอง ได้เรียนรู้ในหลายๆ ด้าน พร้อมสัมผัสประสบการณ์จากการฝึกงานกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมฯ อีกทั้งยังมีการจัดทำโครงการความร่วมมือต่างๆ กับภาคอุตสาหกรรมฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยให้นักศึกษาได้เห็นกระบวนการจริงๆ และจะเรียนรู้พบเจอเมื่อเข้าไปทำงานกับบริษัทในภาคอุตสาหกรรมฯ จริง
ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมฯ ที่ต้องการทักษะเฉพาะทางมากขึ้นและเร็วขึ้น คณะไอซีทีมองแนวทางการออกแบบหลักสูตรที่เป็นชุดรายวิชา (Module) และเพื่อตอบโจทย์การเรียนการสอนที่เป็น Credit Bank สำหรับนักเรียนมัธยม และผู้ที่สนใจจะเข้ามาเรียนรู้กับทางคณะฯ ล่วงหน้า เริ่มเปิดหลักสูตรแรกแล้วคือ หลักสูตร Drawing สามารถเก็บคะแนนไว้ได้ เมื่อเข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีกับเรา ก็ไม่ต้องเรียนซ้ำ และต่อไปจะมีหลักสูตรอื่นๆ ตามมา
“สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่นี้ จะเป็นการอุดช่องโหว่ของเราด้วย รวมถึงยังสามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมฯ ในการผลิตบุคลากรได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอเรียนถึง 4 ปี หรือคนที่อยากย้ายงาน”
ทั้งนี้ทางคณบดี คณะไอซีที ยังได้ย้ำว่า โอกาสการผสมผสานความต้องการจากฝั่งผู้ประกอบการและภาคการศึกษา ในการพัฒนาคนได้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมดิจิทัลนั้น “ทำได้จริง” อีกทั้งครอบคลุมถึงผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญด้วย โดยจะมีความร่วมมือกับ stakeholder ทั้งในภาคส่วนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฯ ผู้สอน ผู้เรียน ตลอดจนอาจมีการบูรณาการความเชี่ยวชาญในการเรียนการสอนข้ามสาขาวิชา เพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการตลาดจริง ๆ
สำหรับวิธีการในการพัฒนาและปรับหลักสูตรใหม่ของคณะไอซีที เพื่อตอบรับโจทย์ความท้าทายของบริบทโลกอุตสาหกรรมปัจจุบัน ทางคณะฯ ได้เปิดเวทีระดมพลังความคิดเห็นจาก stakeholder แทบทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมฯ นักศึกษาที่จบไปทำงานจริงในด้านนี้และอาจารย์ผู้สอน รวมถึงนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ด้วย เพื่อเด็กจะได้รับฟังมุมมองและประสบการณ์จากคนในวงการจริง ให้รู้ว่าหลักสูตรนี้มาจากการแลกเปลี่ยนความเห็นและพิจารณาข้อดีข้อเสียมาแล้ว พร้อมยังได้เห็นมุมมองหลากหลายก่อนประกอบร่างและบูรณาการออกมาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนจริง เพื่อนำเสนอกับมหาวิทยาลัยฯ ต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะไอซีที ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเนื้อหาของหลักสูตรให้ up to date เสมอ ไม่ว่าจะในเรื่องของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น หรือแนวทางการเรียนการสอน โดยมีอาจารย์และบุคลากรผู้สอนทั้งที่เป็นอาจารย์ประจำ และอาจารย์พิเศษจากภายนอกที่มาจากอุตสาหกรรมฯจริงๆ ขณะที่ ในการทำผลงานจบ หรือที่นี่เราเรียกว่า จุลนิพนธ์ ของนักศึกษาในสาขาวิชา จะมีผู้ประกอบการเข้ามาร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งมีข้อดีคือ นักศึกษาจะได้โอกาสดีในการพบกับเจ้าของบริษัท และเรียนรู้เพิ่มเติมด้านทักษะการจัดการโครงการ
“เรามีการเรียนการสอนหลักๆ 3 หลักสูตร ได้แก่ นิเทศศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อธุรกิจ และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการออกแบบ คณะไอซีทีของเรา เน้นเรื่องการบูรณาการทั้ง 3 ด้านเข้าด้วยกัน สำคัญที่สุดคือ นอกจากบูรณาการระหว่าง 3 สาขาแล้ว เรายังมีการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมฯ ซึ่งมีหลายองค์กรที่ได้เข้ามาร่วมทำงานกับเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างหลักสูตร ทำโครงการร่วมกัน การสนับสนุนส่งบุคลากรมาสอนหนังสือ ซึ่งทุกอย่างก็เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและเติบโตไปด้วยกัน”