สสส.-สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่ดูระบบสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผนึก อปท. เกิดศูนย์ดูแล ผุดพื้นที่ต้นแบบ ชู “สองแคว-ดอนแก้วโมเดล” เตรียมร่วม 6 กระทรวงบูรณาการรับมือสังคมสูงอายุ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำคณะผู้บริหารกรรมการกองทุน สสส. สำนักงานผู้ตรวจการแผนดิน (สผผ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น ที่เทศบาลตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ และ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อนำรูปแบบรูปธรรมในพื้นที่ดำเนินการมาวิเคราะห์แนวทางการนำนโยบายสู่การสร้างปฏิบัติการและพัฒนางานสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนและบทบาทหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปจำนวน 12 ล้านคน โดยในปี 2565 เป็นปีที่ผู้สูงอายุมีมากกว่า 13 ล้านคน เข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2563 พบปัญหาในผู้สูงอายุที่สำคัญ ด้านสุขภาพพบว่า ร้อยละ 95 มีโรคเรื้อรังต่างๆ แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ ด้านเศรษฐกิจร้อยละ 34.3 เป็นผู้สูงอายุที่ยากจน ด้านสังคมมีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวลำพังในครัวเรือน ร้อยละ 10.8 และร้อยละ 23.3 อยู่ลำพังกับคู่สมรส ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้านสภาพแวดล้อมพบว่า ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตก หกล้มปีละ 900- 1,000 คน ในภาพรวม สสส. พัฒนาองค์ความรู้และข้อเสนอทางนโยบายทั้งการสนับสนุนกลไกเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ การสื่อสาร และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับการมีสุขภาวะที่ดี เน้นการออกแบบเพื่อทุกคน
“การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยชุมชนของ สสส. เป็นการพัฒนาศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดการตนเอง ปัจจุบันจับคู่สถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือ 12 แห่ง กับศูนย์เรียนรู้ระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น 67 แห่ง เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ 10 แห่ง ผ่านการดำเนินงานของ 4 องค์กรหลัก ประกอบด้วย ท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ รวมถึงเทศบาลตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ ต้นแบบด้านการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุสู่ความเป็นเลิศ และ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม ต้นแบบพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ โดยชุมชนแบบบูรณาการ ซึ่งทั้งสองพื้นที่ใช้ 10 กลยุทธ์ ในการทำงาน 5 อ 5 ก ได้แก่ 5 อ คือ อาชีพ อาหาร ออกกำลังกาย ออม อาสาสร้างเมือง และ 5 ก ได้แก่ การป้องกันและลดอุบัติเหตุ การตั้งและพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุ การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ การดูแลต่อเนื่อง การบริการกายอุปกรณ์ จนประสบผลสำเร็จผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ดร.สุปรีดา กล่าว
กมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2545 และประกาศพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ออกมาบังคับใช้ เพื่อให้การคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุนผู้สูงอายุตามสิทธิที่พึงได้รับ
แต่การดำเนินงานด้านผู้สูงอายุที่ผ่านมายังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศให้สังคมสูงวัยเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ มอบหมายให้หน่วยงานหลักใน 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินงาน
ดังนั้นในการลงพื้นที่ศึกษาดูงานและเรียนรู้งานระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยศึกษาจากหน่วยปฏิบัติการในระดับพื้นที่โดยชุมชนท้องถิ่นจะนำไปสู่การสังเคราะห์และถอดบทเรียนจนได้ข้อเสนอเชิงปฏิบัติและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานของรัฐที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติมาสู่การพัฒนาระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ต่อไป
ด้านลัดดา ไชยชนะ นายกเทศมนตรีตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การพัฒนาระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ ด้วยศักยภาพชุมชนท้องถิ่น มีแนวคิดในการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุสู่ความเป็นเลิศ โดยได้มีการดำเนินการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน มีระบบการดูแลผู้สูงอายุทั้งหมด 7 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบการพัฒนาศักยภาพและการนำใช้ข้อมูล ด้วยระบบข้อมูลตำบล หรือ TCNAP และการวิจัยชุมชน หรือ RECAP 2) ระบบการจัดพื้นที่ 3) ระบบบริการสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ 4) ระบบจัดสวัสดิการและการช่วยเหลือ
และ 5) ระบบการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต 6) ระบบการส่งเสริมอาชีพและลดรายจ่าย 7) ระบบการสร้างเสริมภาวะผู้นำและการช่วยเหลือกัน ทำให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์ครบทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพกายใจ สังคม ภูมิปัญญา และสภาพแวดล้อม ผู้สูงอายุ 1 คน สามารถเข้าถึงบริการอย่างน้อย 1 ระบบ ทำให้ผู้สูงอายุได้รับบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง