แพทย์ สจล. คิดค้นอาหารผ่านสายฟีดแบบฟรีซดราย สารอาหารครบ จบในหนึ่งซอง

93

แพทย์ สจล. ห่วงผู้สูงวัย-ป่วยติดเตียงขาดสารอาหาร หนุนนักวิจัยอาหาร “คิดค้นอาหารผ่านสายฟีดแบบฟรีซดรายสูตรใหม่!” ครั้งแรก ชงง่ายละลายเร็ว แถมสารอาหารครบ จบในหนึ่งซอง ตอกย้ำเป้าหมายโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร มุ่งวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ หวังลดการพึ่งพาต่างชาติ! ‘อาหารผ่านสายฟีดแบบฟรีซดราย’ ทะลายข้อจำกัดอาหารสายยางสูตรเดิม ด้วยกรรมวิธีเฉพาะ แถมต้นทุนต่ำการันตีด้วยวัตถุดิบธรรมชาติ เพียงกรัมละ 0.22 บาท

กรณีผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงต้องให้อาหารผ่านสายยาง ผู้ดูแลควรเลือกใช้อาหารสำเร็จรูปชนิดผงเนื่องจากสามารถควบคุมปริมาณสารอาหารได้อย่างคงที่ ทั้งนี้ นักวิจัยอาหาร สจล. ได้คิดค้น “อาหารผ่านสายฟีดแบบฟรีซดราย” สูตรใหม่ BD2 ที่พร้อมช่วยผู้ป่วยติดเตียงได้รับสารอาหารที่เพียงพอ มีค่าความหนืดที่เหมาะสม ไม่ตกตะกอน ทำให้อาหารไหลผ่านสายยางได้อย่างสม่ำเสมอ สามารถเก็บรักษาได้นานโดยไม่ใช้วัตถุกันเสีย

นอกจากนี้ ยังสามารถเตรียมได้ง่ายเพียงละลายน้ำ ที่สำคัญยังใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมดทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่กรัมละ 0.22 บาท เตรียมทดลองใช้กับมนุษย์เพื่อขอการรับรองให้เป็นอาหารทางแพทย์ต่อไป โดยล่าสุด ภาคธุรกิจได้ให้ความสนใจผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อช่วยผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงสามารถเข้าถึงได้ในราคาย่อมเยา

นายแพทย์ อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า ภาวะโภชนาการต่ำหรือการขาดสารอาหารในกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะหากผู้สูงอายุได้รับสารอาหารไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้โปรตีนในเลือดต่ำส่งผลให้ภูมิต้านทานน้อยลง เพิ่มความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคติดเชื้อ นอกจากนั้นเมื่อน้ำหนักตัวลดมากเกินไปจะทำให้การสร้างเซลล์กระดูกน้อยลง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอาการกระดูกบางและพรุนตามมา รวมถึงทำให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานไม่สมดุลและสุขภาพทรุดโทรมลงตามลำดับ

สำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้สามารถป้องกันการเกิดภาวะโภชนาการต่ำได้ โดยการหมั่นสังเกตปริมาณอาหารที่รับประทานได้ในแต่ละมื้อว่าลดลงอย่างผิดปกติหรือไม่ ร่วมกับการวัดดัชนีมวลกาย กล่าวคือชั่งน้ำหนักตัวใช้หน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยตัวเลขส่วนสูงที่ใช้หน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง หากดัชนีมวลกายอยู่ระดับที่ร้อยละ 20 – 23 ถือว่าเหมาะสม แต่ถ้าหากดัชนีมวลกายต่ำกว่าร้อยละ 18 แสดงว่าผู้สูงอายุกำลังเข้าสู่ภาวะโภชนาการต่ำ ควรเพิ่มรับประทานระหว่างมื้ออาหารเช้าและเย็นเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หากดัชนีมวลกายยังไม่เพิ่มขึ้นจำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมสำเร็จรูป (Inter Meal) ที่มีสารอาหารที่ครบถ้วนเพิ่มเติมในแต่ละมื้อ สำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องรับอาหารผ่านสายยาง ควรเลือกใช้อาหารสายยางรูปแบบผงเพราะสามารถควบคุมปริมาณสารอาหารได้อย่างคงที่ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้อาหารสายยางรูปแบบผงนั้นยังมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คณะแพทยศาสตร์ สจล. จึงได้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสูตรอาหารสายยางในรูปแบบผงที่ผลิตจากวัตถุดิบในประเทศเพื่อลดการนำเข้า สอดคล้องกับเป้าหมายของโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารที่มุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์แบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ในหลายสาขาเพื่อสร้างความมั่งคงทางการแพทย์ให้กับคนไทย ลดการพึ่งพานวัตกรรมและอุปกรณ์การแพทย์จากต่างชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นภัสรพี เหลืองสกุล คณบดีคณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเสริมว่า “อาหารสายยางแบบฟรีซดราย” (Freeze Dried) สูตร BD2 ที่ทีมนักวิจัยได้คิดค้นขึ้นมาเป็นการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อแก้ข้อจำกัด 4 ประการของสูตรอาหารสายยางรูปแบบปั่นที่ใช้ภายในโรงพยาบาลทั่วไป ได้แก่ 1. ข้อจำกัดด้านการเก็บรักษา โดยอาหารสายยางแบบปั่นมีอายุการใช้งานวันต่อวันเท่านั้น 2. ข้อจำกัดในด้านการเตรียม โดยอาหารสายยางแบบปั่นมีขั้นตอนการเตรียมที่ยุ่งยากใช้เวลานาน 3. ข้อจำกัดด้านปริมาณสารอาหาร การเตรียมวัตถุดิบในครัวเรือนเพื่อทำอาหารสายยางแบบปั่นนั้นควบคุมปริมาณสารอาหารให้สม่ำเสมอได้ยาก และ 4. ข้อจำกัดเรื่องการควบคุมการไหลของอาหารผ่านสายยาง อาหารสายยางแบบปั่นเมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดการตกตะกอนทำให้อัตราการไหลผ่านสายยางไม่สม่ำเสมอ อาหารไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายของผู้สูงอายุได้ หรือบางกรณีอาจเกิดการสำลัก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นภัสรพี เหลืองสกุล

ปัจจุบันอาหารสายยางรูปแบบผงที่มีจำหน่ายในท้องตลาดโดยส่วนใหญ่นอกจากจะมีราคาแพง เนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ยังมีกระบวนการผลิตที่ผ่านการเติมแต่งสารต่างๆ อย่าง “เวย์โปรตีน” ดังนั้นเพื่อให้ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงสามารถเข้าถึงอาหารทางสายยางในราคาที่ย่อมเยาและได้รับสารอาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติจากผลผลิตทางการเกษตรไทยแบบ 100% ทีมวิจัยคณะอุตสาหกรรมอาหาร สจล. จึงได้คิดค้น “อาหารสายยางแบบฟรีซดราย” (Freeze Dried) สูตร BD2 นวัตกรรมอาหารสายยางรูปแบบผง ที่มีความเหมาะสมทั้งค่าพลังงาน สารอาหาร และค่าความหนืด อีกทั้งยังจัดเตรียมได้ง่ายเพียงละลายน้ำและป้อนผ่านสายยางได้ทันทีเพียงใช้มือหรือเครื่องให้อาหารสายยาง นอกจากนี้ ยังเก็บรักษาได้นานโดยไม่ใช้วัตถุกันเสีย ประการสำคัญคือผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติในประเทศทั้งหมด อาทิ ผักตำลึง เนื้อปลา น้ำมันจากพืช ฯลฯ ทำให้ต้นทุนเฉพาะส่วนวัตถุดิบอยู่ที่ 0.22 บาทต่อกรัมเท่านั้น

สำหรับสูตรอาหารสายยางแบบผงดังกล่าว ทางทีมนักวิจัยได้นำวัตถุดิบที่ใช้สูตรอาหารสายยางแบบปั่นมาผ่านกระบวนการทำแห้งแบบใช้ความร้อนและการทําแห้งแบบเยือกแข็ง (Freeze Dried) จากนั้นนำมาทดสอบค่าความหนืดและอัตราการไหลผ่านสายยาง พบว่าผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคืออาหารสายยางแบบผงที่พัฒนาขึ้นเมื่อนำมาละลายน้ำสามารถไหลผ่านสายยางได้อย่างสม่ำเสมอและไม่ตกตะกอนในเครื่องให้อาหาร โดยขั้นตอนต่อมาทีมนักวิจัยได้นำสูตรอาหารมาคำนวณเพื่อหาค่าพลังงาน ซึ่งพบว่าสามารถให้ค่าพลังงานที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายผู้สูงอายุ กล่าวคือ ใน 1 ซอง ปริมาณ 100 กรัม มีสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตอยู่ที่ร้อยละ 50 โปรตีน ร้อยละ 15 และไขมัน ร้อยละ 35 โดยใช้เวลาในการปรับปรุงสูตร 18 เดือน

สำหรับผลงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ทางจากนักวิชาการภายในคณะอุตสาหกรรมอาหารทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อาทิ ดร.อรชร เมฆเกิดชู อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการหมักในอุตสาหกรรมอาหาร ผศ. ดร.คริษฐา อิ่มเอิบ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศกรรมแปรรูปอาหาร ดร.กรรณิการ์ กุลยะณี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ผศ. ดร.ศรี จารัน บินดู บาวิเสตี (Sri Charan Bindu Bavisetty) อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการหมักในอุตสาหกรรมอาหาร

อีกทั้งยังได้รับงบประมาณหกแสนห้าหมื่นบาทจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพให้พร้อมต่อการเป็นอาหารทางการแพทย์ (Medical Food) โดยแท้จริง ทั้งนี้ หากในอนาคตมีการผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมจะทำให้ต้นทุนลดลงมากยิ่งขึ้น ขณะนี้งานวิจัยดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาคเอกชนในการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเพื่อนำมาใช้ในมนุษย์เพื่อรับรองการเป็นอาหารทางแพทย์ต่อไป