ทำไมต้องฆ่าตัวตาย สูงวัยคิดสั้น ซึมเศร้าปัญหาใหญ่ของตำรวจ

224

ความเหงา ความเศร้า โรคที่รุมเร้า เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องเจอ ไม่นานมานี้มีหญิงชรา กระโดดตึกฆ่าตัวตาย เหตุจากรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย แม้ว่าจะมีครอบครัวที่อบอุ่น มีฐานะที่มั่นคง แต่ก็ไม่อาจหักห้ามภาวะจิตใจที่อ่อนล้า จนนำมาซึ่งการตัดสินใจที่น่าเศร้าใจเช่นนี้

รายงานจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่าสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จในผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับ2 ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุสำคัญมาจาก ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด , โรคเรื้อรังทางกาย , และโรคซึมเศร้า ตามลำดับ ในขณะที่ข้อมูลจากการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายของตำรวจบ่งชี้ว่าปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มอาชีพตำรวจที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ คือ อาการซึมเศร้า

นอกจากนี้ยังพบว่า การพบเจอกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญบ่อยๆ เช่น อาชญากรรม การฆาตรกรรม เป็นความเสี่ยงให้เกิดโรค PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจซึ่งหากไม่ได้รับการบำบัดจะทำให้ เพิ่มความเสี่ยงของพฤติกรรมฆ่าตัวตายได้

กรมสุขภาพจิต ได้ใช้มาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำควบคู่กับการเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยเชื่อมโยงข้อมูลผู้พยายามฆ่าตัวตายในระบบฐานข้อมูลสาธารณสุข(HDC) ทั้งนี้พบว่า ร้อยละ 15 ของผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นการพยายามฆ่าตัวตายซ้ำ ซึ่งปัญหาการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ สืบเนื่องจากปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรโลกที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ คาดการณ์อีก 8 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 14.9 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

การที่บุคคลมีอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและสมองย่อมเสื่อมถอยลง ความสามารถในการทำงานย่อมลดน้อยลงไป รวมทั้งอาจมีข้อจำกัดในการปรับตัว ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการดำรงชีวิต ความพึงพอใจในชีวิตลดลง กรมสุขภาพจิตจึงได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินความพึงพอใจของผู้สูงอายุไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่

ผู้สูงอายุกลุ่มป่วยคือ ผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ

  1. ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า
  2. ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพ คือ โรคเรื้อรัง, ติดบ้าน, ติดเตียงและ 3)
  3. ผู้สูงอายุกลุ่มดี ในชมรมผู้สูงอายุ

นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ในฐานะที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ได้รับมอบหมายจากกรมสุขภาพจิต ให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบงานด้าน การป้องกันปัญหาฆ่าตัวตาย ได้พัฒนาแอพลิเคชั่น “สบายใจ” เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายเชิงรุก ให้มีความน่าสนใจ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงง่าย อย่างไรก็ตามเพื่อให้การป้องกันการฆ่าตัวตายได้ผลดียิ่งขึ้นอยากขอให้สังคมและประชาชนร่วมช่วยกันเฝ้าระวังปัญหาโดยสังเกตผู้ป่วยที่อาจมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5 กลุ่มได้แก่

  • กลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวช
  • กลุ่มสูญเสีย หรือผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุรุนแรง
  • กลุ่มที่มีประวัติการฆ่าตัวตาย
  • กลุ่มพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์หุนหันพลันแล่นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

หากพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น เก็บตัว ท้อแท้สิ้นหวัง หมดหวังในชีวิต พูดสั่งเสีย ถือว่าเป็นสัญญาณเตือน ขอให้รีบไปพูดคุย จัดการปัญหาให้เบื้องต้น หากยังไม่ดีขึ้น ให้รีบพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มอาชีพตำรวจ นพ.ปทานนท์ ขวัญสนิท จิตแพทย์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายชิ้นที่สนับสนุนว่าตำรวจมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงมากเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป โดย มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง2อันดับ แรกคือ ภาวะวิกฤติในชีวิตและปัญหาสุขภาพจิต ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการซึมเศร้า อาการโรคจิตและใช้สารเสพติด นอกจากนี้ยังพบว่า ตำรวจมีโอกาสพบกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่น เช่น อาชญากรรม การฆาตรกรรม การฆ่าตัวตายการข่มขืน ฯลฯซึ่งเสี่ยงให้เกิดโรค PTSD( Post Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจซึ่งหลายการศึกษาสนับสนุนว่า หากไม่ได้รับการบำบัดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อพฤติกรรมฆ่าตัวตายในกลุ่มอาชีพตำรวจได้

จากการเก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายของตำรวจในประเทศไทยพบว่า ตั้งแต่ปี 2551-2555 มีการฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 29 นาย ส่วนปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 34 นาย โดยกลุ่มที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41-50 ปี เป็นยศดาบตำรวจ และรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม ส่วนข้อมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพบว่ากลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มคนผิวขาว อายุมาก และรับผิดชอบงานด้านอาชญากรรม ซึ่งมีความเครียดสูง ซึ่งการดูแลก็เหมือนบุคคลทั่วไป คือ คนใกล้ชิดควรสังเกตอาการเตือน เช่น การพูดถึงการตายเชิงสั่งเสีย อารมณ์ที่ผิดปกติไปจากเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ดังต่อไปนี้ 1.ผู้ที่เกิดภาวะวิกฤตไม่ว่าจากการสูญเสียทั้งด้านการงานหรือคนที่รัก 2.ผู้ที่แยกตัวจากสังคมหรืออยู่คนเดียว 3.ผู้มีประวัติฆ่าตัวตายมาก่อน และ 4.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพจิตตำรวจในระบบก็จะมี รพ.ตำรวจให้การดูแลและรวมถึง รพ.ทั้งรัฐบาลและเอกชนที่มีจิตแพทย์ก็สามารถขอคำปรึกษาและรับบริการได้” นพ.ปทานนท์ กล่าว

ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน เพศใด หรืออาชีพไหน ภาวะซึมเศร้า เกิดขึ้นได้กับทุกคน ขอเพียงความเข้าใจ กำลังใจ จากคนใกล้ชิด หมั่นเติมคุณค่าของการมีชีวิตให้กันและกัน ด้วยความรักและห่วงใย