LWS เผยชาวคอนโดต้องการพื้นที่ส่วนกลางเพื่อสุขภาพ

22

ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น (LWS) เผยผลสำรวจชีวิตผู้อาศัยในคอนโด ต้องการพื้นที่ส่วนกลางอยู่กับธรรมชาติ ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมกลุ่ม

ผลการสำรวจของทีมพัฒนางานบริการ (Service Development Center: SDC) ของ “ลุมพินี วิสดอม” พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้พักอาศัยในคอนโดลุมพินีกว่า 84% ต้องการใช้ชีวิตประจำวันในพื้นที่ส่วนกลางในการผ่อนคลายกับธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนั้น 79% ต้องการพื้นที่ออกกำลังกาย และอีก 75% ต้องการพื้นที่นั่งทำงานหรือทำกิจกรรมงานอดิเรกแบบบุคคล/กลุ่ม

ผลการสำรวจดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนว่าพฤติกรรมของผู้บริโภค และผู้พักอาศัยในอาคารชุดในปัจจุบันมีความต้องการพื้นที่ที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น และให้ความใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์กับการใช้ชีวิต โดยคำนึงถึงสุขภาวะที่ดี

ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวถึงแนวโน้มและทิศทางการพัฒนางานบริการทางด้านอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ และมีความต้องการในบริการที่แตกต่างจากก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับสุขภาวะที่ดี (Well-Being) เป็นโจทย์ใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับที่พักอาศัย

ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในพื้นที่ชุมชน ทั้งอาคารสำนักงาน และอาคารพักอาศัย ต้องคำนึงถึงเรื่อง “สุขภาวะ: Well-Being” ใน 4 ด้าน คือ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิตใจ สุขภาวะทางสังคม และ สุขภาวะทางสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1. ด้านสุขภาวะทางกาย จากผลการศึกษาของ LWS พบว่า ตลาดที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย และอาหารเพื่อสุขภาพ กำลังได้รับความสนใจและเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น Daily Harvest อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 100,000 ราย ในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นหลายราย หรือ Ketanga กลุ่ม Startup ที่เกิดขึ้นจากความต้องการพักผ่อน และชื่นชอบการออกกำลังกาย ให้บริการจัดทริป และดูแลการพักร้อนแบบกลุ่มย่อยทั่วโลก
2. ด้านสุขภาวะทางจิตใจ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนเกิดภาวะความเครียดทั้งจากความกังวลต่อการติดเชื้อและความกังวลด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีการพัฒนางานบริการที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายทางจิตใจ เช่น Application ฝึกสมาธิของ Head Space ก่อตั้งโดย Andy Puddicombe ผู้เคยบวชที่ทิเบตมากว่า 10 ปี และ Richard Pierson อดีตมาร์เก็ตติ้งบริษัทที่ประสบกับสภาวะหมดไฟ ฝึกฝนสมาธิร่วมกันจนในที่สุดก็ได้มีการขยายแนวทางการนั่งสมาธิ นี้ออกไปให้คนอื่นมากขึ้น ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดสูงถึง 54 ล้านครั้ง และสร้างรายได้ มากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

3. ด้านสุขภาวะทางสังคม “มนุษย์” เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการการรวมกลุ่ม การพบปะสังสรรค์ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางสังคมลดลง ปัจจุบันได้มีการพัฒนางานบริการที่สร้างสุขภาวะทางสังคม เช่น Young Happy เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาโดยคนไทยกลุ่มหนึ่ง ที่มีจุดเริ่มต้นของลูกที่อยากดูแลพ่อแม่วัยเกษียณ ตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้สูงวัย โดยปัจจุบัน มีสมาชิกเข้าร่วมมากกว่า 100,000 คน

4. ด้านสุขภาวะทางสิ่งแวดล้อม จากสถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี (Delivery) ทำให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น จึงมีการพัฒนางานบริการที่ดูแลเรื่องการจัดการขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น GEPP เว้นระยะห่าง ไม่ต้องออกไปไหน สะดวกปลอดภัย รออยู่ที่บ้านแล้วเรียกรับบริการได้ผ่าน 3 ช่องทาง คือ ทางโทรศัพท์ ทางแอพพลิเคชันไลน์ (LINE) และ ผ่านเว็บไซต์

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นวิกฤติด้านสุขภาพที่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็น “โอกาส (Opportunity)” สำหรับการพัฒนางานบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กับพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะการพัฒนางานบริการที่คำนึงถึงสุขอนามัยที่ดี ซึ่งเป็นงานบริการที่มีโอกาสที่จะเติบโตในปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าโควิด-19 จะยังคงอยู่หรือไม่ก็ตาม” ประพันธ์ศักดิ์กล่าว