สคล.หนุน “โครงการพี่สอนน้อง”หวังสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงในเด็กและเยาวชน

30

“โครงการพี่สอนน้อง”  เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนและสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง บุหรี่ สุรา  6 ปี ของการดำเนินกิจกรรม ภายหลังผ่านการอบรม เยาวชนกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ มากขึ้น  โดยในส่วนของปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าเยาวชนอยากให้ผู้ปกครองเลิกดื่มแต่ไม่กล้าสื่อสารออกไปโดยตรง 

มินตรา แซ่ซิ้ม เจ้าหน้าที่ประสานงาน สคล. จ.มหาสารคาม กล่าวว่า โครงการพี่สอนน้อง ปีนี้จัดขึ้นใน 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนกู่สันตรัตน์ และโรงเรียนบ้านยางอิไลดอนก่อ  แต่ละครั้งจะมีเยาวชนเข้าร่วมประมาณ 50 คน ลักษณะกิจกรรมแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ ประมาณ 10 คน  มีรุ่นพี่แกนนำร่วมด้วย โดยเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้แลกเปลี่ยน พูดคุย เล่าประสบการณ์ของตนเองต่อเรื่อง สุรา บุหรี่ และหาทางออกรวมถึงหนทางแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งด้วยวัยที่ใกล้เคียงกัน น้อง ๆ จะกล้าเปิดใจเล่าสิ่งที่พบเห็นในชุมชนของตนเองให้พี่แกนนำฟัง ทำให้เราได้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น และที่สำคัญเราได้อัพเดทการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละปีด้วยว่า ณ ตอนนั้นเขามีกลยุทธ์อย่างไรบ้างในการเจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่น ทำให้เรารู้เท่าทันการตลาดของธุรกิจนี้และสามารถนำข้อมูลมาปรับใช้ในการทำงานของเราได้

“เดิมทีเราก็ทำกันแบบ มีเจ้าหน้าที่ไปอบรมให้ความรู้เรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับเยาวชน แต่พบว่ามีช่องว่างระหว่างวัย คือ น้อง ๆ ไม่เปิดใจ ไม่สะท้อนอะไรกลับมาเลย นั่งฟังเฉยๆ เราจึงปรับกระบวนการใหม่ โดยนำแกนนำเยาวชนซึ่งเรามีการพัฒนาศักยภาพน้อง ๆ เหล่านี้อยู่แล้ว ก็ดึงมาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งวัยเขาใกล้เคียงกัน เด็กๆก็เปิดใจคุยกับพี่ๆ เขากล้าจะคุยและเล่าให้กันฟัง ล่าสุดเรานำเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปในกิจกรรมด้วย ซึ่งการเข้าไปจัดกิจกรรมในแต่ละโรงเรียนจะมีการพูดคุยกับทางโรงเรียนก่อนว่าโรงเรียนต้องการอะไรเป็นหลัก แต่ละโรงเรียนมีความต้องการไม่เหมือนกัน เราต้องจัดกิจกรรมหลักตามที่โรงเรียนต้องการก่อน จากนั้นเราค่อยเอากิจกรรมของเราเข้าไปเสริมก็จะ win win กันทั้งสองฝ่าย” มินตรา กล่าว

ด้าน จุฑามณี บุญพี (วุ้น) ชั้นปี3 สาขาคณิตศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งเคยผ่านกระบวนการพี่สอนน้องมาก่อน มาเป็นแกนนำเยาวชน โครงการพี่สอนน้อง กล่าวเสริมว่า น้องเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการหลายคนมีประสบการณ์คล้ายกับตนเอง คือ มีคนในครอบครัวหรือผู้ปกครองดื่มสุราแต่น้องไม่กล้าบอกให้เลิกเพราะกลัวโดนดุ ในฐานะพี่จึงเล่าประสบการณ์ของตนเองที่วันหนึ่งกล้าเอ่ยปากขอให้พ่อเลิกเหล้าเพื่อครอบครัวและอนาคตของลูก ขอค่าเหล้ามาเป็นค่าเล่าเรียนของลูกแทน ซึ่งเริ่มแรกพ่อของดเหล้าในระยะสั้นก่อน ต่อมาเมื่อทำได้เราก็ขอให้พ่อขยายเวลางดเหล้าออกไปอีก ซึ่งครอบครัวให้การสนับสนุนทุกทางพร้อมสร้างสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการดื่ม จนในที่สุดพ่อก็เลิกดื่มแล้ว  ซึ่งพอน้องได้ฟังก็เริ่มมีความมั่นใจกล้าที่จะลองพูดกับครอบครัวมากขึ้น  เราต้องเปิดใจกับน้องก่อน เขาก็กล้าจะคุยกับเรา คือ คุยกันเหมือนเป็นพี่น้อง

“เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ๆ เราได้รับฟังปัญหาที่แท้จริงของน้อง ๆ บางคนไม่กล้าที่จะพูดกับพ่อแม่หรือกับผู้ใหญ่ในบ้าน กิจกรรมนี้ทำให้น้องกล้าที่จะพูดคุยกับเรา กล้าบอกปัญหาและสื่อสารกับเราโดยตรง การแบ่งกลุ่มนี้มีน้อง 10 คนต่อพี่ 1 คน เพื่อจะได้ดูแลได้ทั่วถึงและน้องสามารถคุยกับเราได้ทุกคน โดยกลุ่มน้องๆจะเป็นคนเลือกว่าอยากได้พี่คนใหน ทำให้เขารู้สึกสนุกไปกับเรา โดยเปิดให้ยิงคำถามกับพี่ๆก่อน ใครอยากรู้อะไรเกี่ยวกับพี่แกนนำ และสิ่งที่พี่ไปพบเห็นมาในเรื่องของสุราและบุหรี่  เราสร้างบรรยากาศเป็นกันเองในการพูดคุยกันปกติ  เหมือนไม่ได้เข้าอบรมแต่มาคุยเล่นกันสนุก ๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมแบบนี้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้น้อง ๆ ได้ตั้งแต่เด็ก ๆ ให้เขารู้ว่า บุหรี่ สุรา มีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมรอบข้างอย่างไรบ้าง โตขึ้นเขาจะมีสติในการรับรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี หวังว่าโครงการนี้จะกระจายไปทุกอำเภอถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ไปทั่วประเทศเลย โดยเฉพาะโรงเรียนตามชนบทห่างไกล”จุฑามณี กล่าว

ธีรวุฒิ ชูใสย์ (บาส) ม.3 โรงเรียนกู่สันตรัตน์ ต.กู่สันตรัตน์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม เผยความรู้สึกว่า ผมชอบโครงการนี้มาก เพราะนอกจากเราจะได้ความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายและผลกระทบอันเกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและสังคมโดยรวมแล้ว ยังได้ฝึกตนเองให้กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันกับเพื่อน ๆ น้อง ๆ ในกลุ่มโดยมีพี่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ผิดจากเมื่อก่อนผมจะไม่กล้าพูดเท่าไหร่ ถ้ามีโอกาสก็จะเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้อีกครับ

ขณะที่ 2 สาว นร.ชั้น ม.2 จากโรงเรียนเดียวกัน ด.ญ.ศิริญากร ผาดนอก (อังกอ) และ ด.ญ.รสสุคนธ์ พาชัย (มุก) ต่างกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า  โครงการนี้ทำให้พวกเธอกล้าเปิดใจพูดคุยกว่าเมื่อก่อน สำหรับเธอทั้งสองแล้วพบเห็นคนดื่มสุราในชุมชนตนเองบ้าง ส่วนใหญ่มักพบดื่มคนเดียวในบ้านตัวเอง เมื่อเมาจึงไม่ได้สร้างปัญหาให้กับคนรอบข้าง แต่ก็มีที่ดื่มเป็นกลุ่มบ้าง โชคดีครอบครัวของตนทั้งสองไม่มีใครดื่มสุราเลย ที่ผ่านมาเมื่อพบเห็นคนดื่มสุราก็จะหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้  และภายหลังผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมพี่สอนน้อง จึงมีความกล้ามากขึ้น กล้าที่จะเข้าไปเตือนผู้ใหญ่แต่ก็บอกไปด้วยคำพูดที่แสดงถึงความห่วงใยต่อสุขภาพ ส่วนจะเชื่อเด็กๆหรือไม่นั้น เราก็หวังว่าผู้ใหญ่จะฟังลูกหลานบ้าง เราในฐานะลูกหลานก็อยากให้ท่านมีสุขภาพดี

จากผลลัพธ์เชิงประจักษ์ “โครงการพี่สอนน้อง” จึงนับเป็นอีกหนึ่งเวทีที่สามารถดึงศักยภาพแกนนำเยาวชนมาเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ “โครงการพี่สอนน้อง”  เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า จ.มหาสารคาม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนและสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง บุหรี่ สุรา ให้เยาวชนรู้สึกว่าการดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องปกติแม้แต่การดื่มของคนในครอบครัว