NEPS รุกเพิ่มพอร์ตลูกค้าใหม่เจาะกลุ่มธุรกิจโรงพิมพ์ “ไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป” และ “รุ่งศิลป์” ไว้วางใจให้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปรวมกว่า 800 กิโลวัตต์ เผยสามารถคืนทุนให้ลูกค้าได้ภายใน 5 ปี และช่วยลดค่าไฟได้ 60-70% ชูจุดเด่นบริการ One Stop Solutions
ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นิว เอ็นเนอร์จี้ พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ NEPS ผู้นำด้านการให้บริการพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับสากล ให้ข้อมูลว่า โรงพิมพ์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการใช้ปริมาณไฟฟ้าจำนวนมาก โดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 200,000 – 1,000,000 กว่าบาทต่อเดือน โดยขึ้นอยู่กับขนาดของโรงพิมพ์ ส่งผลให้หลายบริษัทให้ความสนใจในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) เนื่องจากเล็งเห็นว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนและประหยัดค่าไฟในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง NEPS ได้รับความไว้วางใจในการดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับ 2 โรงพิมพ์ที่มียอดขายระดับท็อป 5 ของประเทศ ได้แก่ บริษัท ไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป จำกัด ที่ให้บริการด้านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ครบวงจร และบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ผลิตแบบเรียนอันดับต้นของไทย
“NEPS ได้เข้าไปติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับ “ไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป” ที่สำนักงานใหญ่ตรงถนนรัชดาภิเษก ขนาดติดตั้ง 101.37 กิโลวัตต์ บนพื้นที่ 450 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 4 ล้านบาท รวมถึงให้บริการเปลี่ยนหลังคาใหม่ทั้งหมดด้วย โดยทำการติดตั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สามารถช่วยลดค่าไฟได้กว่า 90,000 บาท/เดือน อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้ว 9,730 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 290 ต้น ขณะที่รุ่งศิลป์การพิมพ์นั้นได้ทำการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ณ โรงงานที่จังหวัดนครปฐม บนพื้นที่ 3,200 ตารางเมตร มีกำลังผลิตไฟฟ้ากว่า 700 กิโลวัตต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 18 ล้านบาท โดยหลังจากทำการติดตั้งแล้วจะสามารถคืนทุนให้กับทางโรงพิมพ์ได้ภายใน 5 ปี”
ทั้งนี้ NEPS ได้ส่งมอบบริการคุณภาพให้กับลูกค้าด้วยจุดเด่นของบริษัทซึ่งเป็น One Stop Solutions ตั้งแต่การออกแบบ การขอใบอนุญาต การติดตั้ง การดูแลบำรุงรักษาฟรี 2 ปี และส่งรายงานแสดงผลการใช้งานประจำปี ให้อีก 25 ปี พร้อมบริการที่เหนือระดับกับแอปพลิเคชันจากอินเวอร์เตอร์ SolarEdge ที่สามารถดูการใช้ไฟฟ้าได้แบบเรียลไทม์ และแสดงผลด้านต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้าที่ลดลง ตัวเลขเปรียบเทียบค่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และจำนวนเทียบเท่าของการปลูกต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งโรงพิมพ์สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต
ตรีรัตน์ ประเมินทิศทางการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของโรงพิมพ์ในไทยว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เห็นได้จาก NEPS ที่ได้รับการติดต่ออย่างต่อเนื่องจากลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจนี้ ผนวกกับเศรษฐกิจไทยที่เริ่มกระเตื้องกลับมาหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนและการดำเนินงานของภาคธุรกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้หลายธุรกิจเริ่มฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งรวมถึงกลุ่มธุรกิจโรงพิมพ์เช่นกัน โดยดีมานด์ของสื่อสิ่งพิมพ์เริ่มกลับมา ทั้งจากการเติบโตของสื่อโฆษณา การขยายตัวของธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่และอีคอมเมิร์ซที่มีอัตราการใช้บรรจุภัณฑ์ (Packaging) พุ่งสูงขึ้น
“ธุรกิจโรงพิมพ์มีค่าใช้จ่ายหลักคือค่าไฟ ซึ่งการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะช่วยโรงพิมพ์ประหยัดค่าไฟได้ถึง 60-70% โดยเล็งเห็นว่าภาครัฐควรสนับสนุนให้โรงพิมพ์ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ด้วยการออกนโยบายต่างๆ อาทิ การลดหย่อนภาษีหรือทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ก็จะช่วยโรงพิมพ์ขนาดเล็กได้อีกทางหนึ่ง เพราะไทยถือว่าเป็นฮับการพิมพ์ของโลก ด้วยดีมานด์จากทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามาใช้บริการโรงพิมพ์ของไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากโรงพิมพ์ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็จะช่วยลดค่าไฟและประหยัดต้นทุนได้ ส่งผลให้ธุรกิจโรงพิมพ์ขับเคลื่อนได้เร็วกว่าเดิมและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในแง่ของโรงพิมพ์ที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นการตอบโจทย์เทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” ตรีรัตน์ กล่าวปิดท้าย