หมอเด็กห่วงเด็กไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง

71

หมอเด็กห่วงเด็กไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง มากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบถึง 3-4 เท่า ขณะที่สังคมไทยกำลังตื่นตระหนกกับปัญหากัญชาจะทำลายสมองเด็กและเยาวชน

สถิติการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กไทยก็เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ รศ.นพ.ชัยยศ คงคติธรรม หัวหน้าสาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สมองของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลาตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์จนถึงผู้ใหญ่ วัยรุ่นก็เป็นช่วงอายุหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาของสมอง มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ของสมอง ได้แก่ การเรียนรู้จากประสบการณ์จะกระตุ้นให้มีการเพิ่มขึ้นของการเชื่อมต่อ (synapse) ของเซลล์ประสาท และมีการสูญสลาย (pruning)ของการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทที่ไม่มีการใช้งาน ทำให้การทำงานของสมองที่สำคัญๆ เช่น การคิดวิเคราะห์ ความจำ การจัดระเบียบความคิด การควบคุมอารมณ์ สมาธิ และพฤติกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจจึงเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นนี้

ระบบสารสื่อประสาทที่จำเป็นต่อการพัฒนาของสมองในช่วงวัยนี้จะถูกรบกวนโดยตรงจากสารนิโคตินที่พบในบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า โดยนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นมาสามารถเติมและเพิ่มในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าได้สูงกว่าบุหรี่มวนถึง 10-100 เท่า นิโคตินสังเคราะห์มีคุณสมบัติที่เหนือกว่านิโคตินธรรมชาติ คือ ไม่ระคายคอทำให้เสพได้มาก ดูดซึมได้เร็วกว่าภายใน 7-10 วินาทีจะเข้าสู่สมองไปกระตุ้นตัวรับนิโคทินิคอะเซทิลโคลีนในเซลล์ประสาท (nicotine acetylcholine receptors) ให้หลั่งโดปามีน ก่อให้เกิดความสุข ความสบาย อารมณ์ดี และทำงานได้ดี แต่ก็จะถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดอาการอยากและ ‘เสพติด’ พบว่า นิโคตินมีอำนาจการเสพติด (addictivity) สูงที่สุด สูงกว่าเฮโรฮีน โคเคน กัญชา และยาบ้า

“ทั้งนี้มีผลงานวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง โดยพบว่า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง เช่น ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนหรือการทำงาน ความจำหรือการตัดสินใจแย่ลงกว่าคนที่ไม่สูบ และพบว่า สมองของเด็กมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นหากเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าก่อนอายุ 14 ปี โดยเด็กที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่ามีแนวโน้มที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบถึง 3-4 เท่า ส่วนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบมีแนวโน้มที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าคนที่ไม่เคยสูบ 2 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าสมองของคนที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า จะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งแย่กว่ากลุ่มคนที่ไม่สูบอย่างมีนัยสำคัญ” รศ.นพ.ชัยยศ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้าไปป้องกันตั้งแต่แรกๆ เพราะเด็กเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการพัฒนาของสมอง โดยสมองของเด็กมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกิดจากนิโคตินมากกว่าสมองของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของสมองระดับสูง