เก๋ายกก๊วน ชวนกันเที่ยวใต้ สุขใจ ไปเบตง

110

กิจกรรมวันหยุดของคนในครอบครัวปัจจุบันนี้ นอกจากจะชวนกันออกไปกินข้าวนอกบ้านแล้ว ยังมีเรื่องของการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่จำกัดเฉพาะ พ่อ แม่ ลูก เท่านั้น แต่หมายรวมถึง คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ร่มโพธิ์ร่มไทรภายในบ้านที่ลูกหลานอยากทำให้ท่านมีความสุข

แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาของคนทำงาน กว่าจะว่างพาพ่อแม่วัยชราไปเที่ยวสักครั้งก็ต้องรอกันนานหน่อย แต่คนสูงวัยในยุคนี้ เท่าทันเรื่องเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร ท่านสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเองแล้ว ทุกวันนี้เวลาไปไหนมาไหน เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีกลุ่มผู้สูงวัยออกเดินทางท่องเที่ยวไปในทุกที่

นั่นเพราะพวกเขา เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมทั้งเรื่องเวลา และกำลังใช้จ่าย จึงเป็นกลุ่มที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเห็นว่า เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง

เป็นที่มาของโครงการ “เก๋ายกก๊วน ชวนกันเที่ยวใต้” ประจำปี 2561  ที่ ททท. สนง.นราธิวาส  ร่วมกับ ไปไหนดี ทราเวล มูลนิธิเทพปูชนียสถาน และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส  ชวนวัยเก๋าเกือบ 50 ท่านร่วมทริปเดินทางไกลไปถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ซึ่งเราได้ร่วมเดินทางไปร่วมพิสูจน์เส้นทางท่องเที่ยวอันงดงามในครั้งนี้ด้วย

หลังจากลงเครื่องที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มุ่งหน้าสู่ อ.เบตง จ.ยะลา พื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ต่างหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย แถมยังเป็นพื้นที่ซึ่งไม่น่ากังวลอะไรเลย

มาถึงเมืองเบตง บรรดาลูกทัวร์วัยเก๋า ก็สนุกสนานเหมือนการออกมาทัศนศึกษาสมัยเด็กๆ เพราะผู้ร่วมทริปเป็นวับที่ใกล้เคียงกัน พูดจาภาษาเดียวกัน แถมยังได้ไกด์ที่เก๋าเกมอย่าง “ชายระวีร์” ไกด์ศิลปินอารมณ์ดี และใช้ภาษาไทยได้ระดับที่ดีมาก เป็นที่ชื่นชอบของลูกทัวร์ทุกคน

เมืองเบตงมีความสวยงาม มองแล้วเจริญหูเจริญตาด้วยสีสันและรูปทรงของบ้านเรือน บริเวณหอนาฬิกาใจกลางเมือง มีตู้ไปรษณีย์ขนาดยักษ์ตั้งอยู่ ซึ่งเป็นตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในโลก สร้างขึ้นเพื่อรำลึกการสื่อสารด้วยจดหมาย ในสมัยที่เบตงได้ชื่อว่าห่างไกลจากเมืองอื่นๆ มาก เพราะตั้งอยู่ในหุบเขา และเป็นอำเภอสุดท้ายใต้สุดของประเทศไทยอีกด้วย

การได้รำลึกถึงอดีต ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางแห่งความสุข เชื่อว่าในการสนทนาของวัยเก๋า น่าจะมีเรื่องราวดีๆ ของการเขียนจดหมายมาเล่าสู่กันฟัง

จากนั้นก็เดินทางต่อไปที่ “วัดเบตง” หรือชื่อในวันนี้ว่า “วัดพุทธาธิวาส” ตั้งอยู่บนเนินเขาที่ลาดเอียงในตัวเมืองเบตง มองเห็นเมืองเล็กๆ ในหุบเขา  โดดเด่นด้วย “พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ” ที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

มาถึงเบตงแล้ว ที่จะพลาดไม่ได้ คือการชิมอาหารอร่อยๆ ของเบตง แน่นอนว่าเมนูแรกต้องเป็น “ไก่เบตง” ซึ่งวันนี้เลือกร้านคุณชาย เป็นอาหารเย็นของคณะ นอกจากไก่เบตงที่ทำให้ทุกคนเอร็ดอร่อยกับมื้อนี้แล้ว ยังมีเมนูเด็ดๆ อีกเพียบ รสชาติจัดจ้านตามสไตล์อาหารใต้ แต่ก็มีเมนูที่ไม่ทรมานท้องให้กับผู้ที่ไม่ถนัดในการรับประทานของเผ็ด

ค่ำคืนของเบตง งดงามด้วยความเงียบสงบ บริเวณหน้าที่พัก เป็นจุดชมเบตงยามค่ำคืนที่งดงาม อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ตั้งอยู่บริเวณถนนอมฤทธิ์ ตัดกับถนนภักดี ซึ่งเป็นอุโมงค์ลอดผ่านภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย ถนนเส้นนี้เชื่อมโยงไปยังหอนาฬิกา ซึ่งยามค่ำคืนมีการประดับไฟสวยงาม

เช้าตรู่ของอีกวัน เราเดินทางสู่ไฮไลท์สำคัญของเบตง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกใจวัยเก๋ายิ่งนัก เพราะเดิมที หากจะชมหมอกยามเช้าในมุมสูง ก็ต้องดั้นด้นขึ้นไปบนเขา ไม่ก็ต้องเดินเท้ากันเป็นระยะทางยาว มีไม่กี่จุดที่จะสามารถชมหมอกได้อย่างสะดวก เท่าที่นึกออกตอนนี้ก็น่าจะเป็นเชียงใหม่ หรือ เขาค้อ แต่หากเป็นทางภาคใต้ จุดชมวิวมุมสูงที่ง่ายและสะดวก ก็น่าจะเป็นที่นี่

ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง  จ.ยะลา ใช้เวลานั่งจากเมืองเบตงราวครึ่งชั่วโมง แม้จะต้องตื่นแต่เช้า และยังไม่มีอะไรตกถึงท้อง

แต่เมื่อมาถึง ไม่มีใครสักคน ที่จะบ่นว่าหิวข้าวหรือรีบกลับ กล้องในโทรศัพท์มือถือทำงานอย่างหนัก ด้วยวิวหมอกที่ปกคลุม งดงามเกินบรรยาย ถูกใจทั้งวัยเก๋าหรือวัยเรา แถมเป็นช่วงวันธรรมดาที่ผู้คนบางตา เลยได้สุขใจกันไปเต็มๆ

ความทรงจำอันงดงามตราตรึง แต่พอกลับมาถึงตัวเมืองทุกคนก็เริ่มหิว เราแวะกินอาหารเช้าที่ร้าน “เซ้ง ติ่มซำ” บริเวณหอนาฬิกา ติ่มซำนานาชนิดยกมาเป็นคอนโด ถึงเวลาลุย ช่างเป็นยามเช้าที่อิ่มตาอิ่มใจอิ่มท้อง ก่อนจะกลับที่พักไปอาบน้ำอาบท่า เก็บสัมภาระเดินทางกันต่อไป

เราออกจากเบตงยามสาย แต่ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ปัตตานีเป็นเป้าหมายต่อไป ก็แวะชมอีกไฮไลท์กันสักหน่อย เพราะที่เบตง ซึ่งมีสภาพอากาศที่ดี เย็นสบายตลอดทั้งปี จึงทำให้เหมาะกับการปลูกดอกไม้เมืองหนาว และกล่าวได้ว่าเป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวแห่งเดียวในภาคใต้

สวนดอกไม้เมืองหนาวที่เบตง เป็นโครงการพระราชดำริ  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้ทรงอักษรจีนพระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า “ว่านฮัวหยวน” หรือแปลเป็นไทยว่า “สวนหมื่นบุปผา”

ดอกไม้สวยๆ ท่ามกลางแดดที่เริ่มจ้าในตอนกลางวัน สร้างรอยยิ้มที่สดใสให้กับบรรดาวัยเก๋า มองออกไปก็เหมือนเด็กๆ วิ่งเล่นกันในสนาม ทุกคนดูไม่เหนื่อยไม่ล้า เดินถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน

ช่วงเวลาสั้นๆ ในเบตง วัยเก๋าบางท่านเคยมาที่นี่เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว กลับมาอีกครั้งท่านก็ยังบอกว่าประทับใจ อีกหลายท่านไม่เคยมา ก็บอกว่าอยากกลับมาใหม่

แล้วเราก็มุ่งหน้าไปปัตตานีกันต่อ