The Chain War สงครามระหว่าง Blockchain Layer 1 และ Layer 2

17

Blockchain คือเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ในการเก็บข้อมูล ที่โดดเด่นในเรื่องของความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ จึงเริ่มมีคนนำ Blockchain มาประยุกต์ใช้ในแวดวงการเงิน ทำให้เกิดเป็น Decentralized Finance (DeFi) หรือ “การเงินแบบกระจายศูนย์” และด้วยความนิยมการใช้งานที่มากขึ้น ทำให้เหล่าผู้พัฒนา (Developer) พบปัญหาในการทำธุรกรรมบนบล็อกเชน ทั้งค่าธุรกรรมที่แพงขึ้น หรือที่คนในวงการเรียกกันว่า “ค่าแก๊ส” รวมถึงการประมวลผลมีความล่าช้า

สำหรับผู้ใช้งานบล็อกเชนจะพบว่าบล็อกเชนแรกตั้งต้น (Layer 1) ติดอยู่ในกรอบของ Blockchain Dilemma ที่มีหลักพื้นฐาน 3 อย่างได้แก่ Security ความปลอดภัย, Scalability การขยายตัว, Decentralized การกระจายศูนย์ ซึ่ง Blockchain ที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่สามารถเกิดองค์ประกอบพร้อมกันของ 3 สิ่งนี้ได้ จึงทำให้มีข้อจำกัดในการนำ Blockchain มาใช้งาน ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Layer 2

ฟรานเชสก้า รุสโซ่ ผู้ก่อตั้ง Crypto Meetup Thailand จึงจัดกิจกรรม Crypto, NFT & Beers คอมมูนิตี้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ในหัวข้อ “THE CHAIN WAR จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ Layer 2 ไม่ได้ดีอย่างที่คิดไว้” โดยได้รับเกียรติจาก Influencer ที่มีชื่อเสียงมาให้ความรู้ ได้แก่ สิทธิพล พรรณวิไล เจ้าของบล็อก nuunoei.com และ Software Engineer เจ้าของผลงาน Apetimism บนเครือข่าย Optimism Chain อรรณวุฒิ ลีไพศาลสุวรรณา หัวหน้าทีมบล็อกเชนจาก SCB 10X นักพัฒนาผู้มากประสบการณ์ และ นัฐพล นิมากุล CTO จากบริษัท ซาโตชิ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางการเงินรูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ “คูแลป” มาร่วมไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ Blockchain layer 2 ว่าจะมาแก้ Pain Point Layer 1 ได้หรือไม่? จะเกิดอะไรถ้า Layer 2 ไม่ได้ดีอย่างที่คิด?

เมื่อ Layer1 ไม่ได้ดั่งใจ
Ethereum แท้จริงแล้วก็เกิดมาจากแนวคิดของ Bitcoin แต่แก้ปัญหากันคนละส่วน ซึ่ง Bitcoin แก้ปัญหาเรื่องของ Cash Money โดยสร้างระบบให้สามารถส่งถ่ายเงินได้ในระดับ Global ง่ายขึ้น แบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง แต่ด้วยความยากในเชิงการพัฒนาบางอย่างจึงทำให้เกิด Ethereum ขึ้นมานั่นเอง อีกทั้งยังมีปัญหา Blockchain Dilemma ซึ่งปกติจะทำได้แค่ 2 ใน 3 อย่าง เน้นไปที่ Security และ Decentralized แต่ Scalability จะยังไม่มี หรือพูดง่ายๆ การทำธุรกรรมจะยังช้ากว่าโอนผ่านแบงก์ในปัจจุบัน

ตัว Ethereum ก็ติดปัญหานี้เช่นเดียวกัน จึงทำให้เกิดการพัฒนา Layer 2 เพื่อแก้ปัญหาในส่วนของ Scalability เพราะทีม Ethereum เองรู้ดีว่า หากจะแก้ให้สมบูรณ์ทั้ง 3 ส่วนโดยทำงานอยู่บน Layer 1 ที่เดียวนั้น จะสร้างปัญหามากกว่าผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งมีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับ Layer 2 มาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว แต่เพิ่งสร้างให้ใช้งานได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

เมื่อ Layer 2 ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
นักพัฒนาเจ้าของผลงาน NFT อย่าง Apetimism ที่พัฒนาอยู่บนบล็อกเชน Layer 2 อย่าง Optimism ให้ความเห็นว่า จริงแล้ว Layer 2 เป็นสิ่งที่ใหม่มาก ก่อนที่จะเลือกพัฒนาโปรเจกต์บน Optimism ยอมรับว่าเคยเล่น Layer 2 อื่นๆ มาเยอะมาก แต่สุดท้ายมาชอบทีมผู้พัฒนา และคอมมูนิตี้ของ Optimism

“ต้องยอมรับว่า Layer 2 ยังมีความเสี่ยงหลายอย่าง โดยเฉพาะตอนนี้ที่ยังไม่ได้ถูกโลกตัดสินว่าเป็นผู้ชนะ และสามารถไปต่อได้ แต่ถ้ารอแล้วไม่เริ่มทำตอนที่ยังใหม่ เราอาจจะไม่ทันในช่วงที่เกิดการยอมรับอย่างแพร่หลายไปแล้ว แต่สุดท้ายถ้า Optimism ยังไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าดีจริง เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับ Polygon ก็พร้อมที่จะย้ายไปทำที่อื่นเช่นกัน ซึ่งในมุมของผู้พัฒนาเราต้องมีแพลนบีไว้เสมอ”  สิทธิพล กล่าว

ไม่มี Chain ไหนที่ดีที่สุด มีแต่ Chain ไหนที่เหมาะที่สุด
แม้ว่าจุดเริ่มต้นของ Layer 2 จะเกิดจากความตั้งใจที่จะแก้ไข Pain Point ของ Layer 1 รวมถึงมีโอกาสและความน่าสนใจหลายอย่าง แต่กูรูทั้ง 3 ท่านก็ให้ความเห็นตรงกันว่า Layer 2 แต่ยังเป็นการมาที่ใหม่อยู่ ยังต้องพึงระวังในเรื่องของการพัฒนา เพราะยังมีหลายส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการขึ้นระบบ ในมุมของนักพัฒนาและนักลงทุน หากโปรเจกต์ดังกล่าวไม่เป็นไปได้ทางที่วาดเอาไว้ การมีแผนรองรับจึงยังเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กับการพัฒนาโปรดักซ์เช่นกัน เพราะไม่มีอะไรปลอดภัย 100 % มีแต่ที่ยังปลอดภัยอยู่ จนกว่ามันจะไม่ปลอดภัยแล้ว

สำหรับ Crypto Meetup Thailand เป็นงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ 13 ปีที่ผ่านมา Bitcoin ตายมาแล้วกี่ครั้ง?? และมีธุรกิจใดที่โดน Disrupt เพราะ Bitcoin??ในวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2565 ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/cryptomeetupthailand